อนาคตของประชาธิปไตย : ความรักกับความเกลียด

อนาคตของประชาธิปไตย : ความรักกับความเกลียด

อะไรทำให้มนุษย์สร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มองเห็นความเท่าเทียมของมนุษย์เป็นหัวใจหลัก และอะไร

ผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากในอดีตได้สละชีวิตให้แก่การต่อสู้เพื่อบรรลุถึงความเท่าเทียมเช่นนี้

อะไรทำให้มนุษย์ฆ่าฟันกันตายเป็นแสนเป็นล้านในสงครามใหญ่ที่ผ่านมาอย่างน้อยสองครั้ง และกำลังดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่ของโลกปัจจุบันนี้ สังคมไทยเองก็ผ่านการฆ่ากันกลางเมืองหลายต่อหลายครั้ง

อะไรทำให้ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสองคนได้รับเสียงสนับสนุนที่แตกต่างกันอย่างชนิด ที่เรียกว่าหน้ามือกับหลังมือ

คำถามที่ตั้งข้างต้นอาจจะตอบได้จากระบบเหตุผลว่า เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ในสังคม และทำให้คนจำนวนหนึ่งมองเห็นความจำเป็นของการดำรงอยู่ของคนอื่นๆ จึงทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

และอาจจะตอบอีกคำถามว่าเพราะรัฐอีกฝ่ายหนึ่งถูกบีฑาจนประชาชนเดือดร้อน จึงทำให้เกิดจอมเผด็จการที่เสนอการแก้ไขปัญหาให้และนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจคืนมาจากรัฐอื่น

แต่ลึกลงไปนั้นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหลาย บรรดามีไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างสุข/โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น หากแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ค่อยๆ ส่งผลก่อรูปอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งที่กลั่นกรองเอาประสบการณ์ทั้งหมด มีขมวดปมกระชับอยู่ในกลุ่มก้อนของอารมณ์เพียงหนึ่งเดียว อันได้แก่ความรักและความเกลียดชัง

เราเข้าใจมนุษย์และสังคมมนุษย์กันไม่มากนัก เพราะเราทอดทิ้งการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกทางสังคม เราอาจจะมีการศึกษาจิตวิทยาสังคมแต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียวของอารมณ์ความรู้สึก ในสังคมตะวันตกช่วงยี่สิบปีหลังนี้เริ่มมีการขยายตัวของการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจปัญหานานัปการที่เกิดขึ้นได้

สำหรับสังคมไทยยิ่งหนักหน่วงมากกว่าสังคมอื่น เพราะเราปล่อยให้ความเข้าใจความรู้สึกตกอยู่ในกับดักทางความคิดสองด้าน ด้านหนึ่งมองว่าความรู้สึกเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็อธิบายด้วยลักษณะสากลทั่วไปตามหลักพุทธศาสนาว่า ความเป็นมนุษย์ย่อมต้องมีกิเลสตัณหารักโลภโกรธหลง

การที่สังคมไทยเข้าใจและนึกถึงความรู้สึกเพียงสองด้านดังกล่าว จึงทำให้สังคมไทยประสบข้อจำกัดอย่างมากในการอธิบายปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะจากแง่มุมสองด้านนี้ทำให้การอธิบายปัญหาทั้งหลายให้ตกอยู่บนบ่าของปัจเจกชน หรือมิฉะนั้นก็ข้ามไปสู่การมองไปที่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์เป็นสากลไปเลย ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยทำให้เข้าใจอะไรมากไปกว่าการรับรู้เสียงคำเทศนาของพระสงฆ์ทั่วๆ ไป

ในปัจจุบันเรายิ่งไม่เข้าใจอารมณ์ร่วมกันของคนแต่ละกลุ่มแต่ละ “ชนชั้น” ในสังคม (Collective Emotion) โดยเฉพาะอารมณ์ทางการเมือง

ผมเห็นด้วยกับหลายคนที่กล่าวว่าพลเมืองจำนวนมากที่จะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญกัน นอกจากหาอ่านยาก/หาอ่านไม่ได้แล้วที่สำคัญกว่าก็คือตัดสินใจไปแล้วว่า จะลงคะแนนอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับหรือไม่รับร่างฯ ล้วนแล้วแต่มีธงทางอารมณ์ความรู้สึกกำหนดการลงคะแนนอยู่แล้ว (เพียงแต่ไม่อยากพูดต่อสื่อ/โพลที่มาสำรวจความคิดเห็น) ความรู้สึกสองประการที่จะกำหนดอนาคตระบอบการปกครองของสังคมไทย ได้แก่ ความรักและความเกลียด

ทั้งฝ่ายรับและไม่รับร่างฯ มีความรักและความเกลียดเป็นหลักกำหนดพฤติกรรมเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันตรงที่ “องค์ประธาน” (Subject) ของความรักและความเกลียดลองคิดกันดูให้ดีนะครับว่า ท่านถูกกำหนดด้วยอารมณ์ชุดนี้เช่นนี้หรือไม่

นักคิดและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งพยายามเรียกร้องให้การตัดสินใจทางการเมืองนี้ข้ามพ้นอารมณ์ความรู้สึกด้วยการผลักดันให้อ่านร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างจริงจัง และขอให้ใคร่ครวญถึงการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่จะก่อรูปอนาคตสังคมไทยว่าจะเป็นไปในทางไหน

ท่านหนึ่งถึงขนาดกล่าวเปรียบเปรยว่าหากไม่อ่านให้ดีแล้วไปลงรับ/ไม่รับร่างฯ ก็จะเหมือนกับการแต่งงานกับคนที่ท่านไม่รู้จักและที่สำคัญเขาเน้นอีกด้วยว่า เป็นการแต่งงานที่หย่าได้ยากเหลือเกิน

อีกไม่กี่วันก็จะต้องลงคะแนนประชามติแล้ว นอกจากอยากจะขอให้อ่านร่างรัฐธรรมนูญกันให้ดีๆ แล้ว ก็อยากจะขอให้ทุกท่านหวนกลับมาทบทวนถึงความรักและความเกลียดกันให้ชัดเจน

ความรัก” ที่จะต้องสร้างสรรค์กันให้ฝังแน่นในสังคมควรจะเป็น “รัก” ที่เผื่อแผ่แก่คนอย่างเท่าเทียมในความเป็นคน อย่าลืมนะครับว่า “รัฐ” เกิดขึ้นมาเพราะเราแต่ละคนได้ยอมสละสิทธิเหนือตัวเราหลายด้านมอบให้แก่ “รัฐ” เพื่อให้ “รัฐ” มีอำนาจในการดูแลผู้คนทั้งหมดอย่างเสมอภาคและเสมอหน้ากัน

ความเกลียด” ที่ต้องสร้างสรรค์เช่นเดียวกันก็ควรจะเป็น “เกลียด” ความอยุติธรรมที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหน้าที่ด้านควบคุมของ “รัฐ” ก็ควรที่จะจำกัดและกำจัดความอยุติธรรมในสังคม

ในฐานะมนุษย์เรายอมไม่สามารถละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกได้ หากแต่เราต้องเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ดี และในบางกรณีการก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกของเราเพื่อบรรลุถึง อุดมคติของระบอบอารมณ์ความรู้สึกที่จรรโลงสังคมมนุษย์อยู่อาจจะทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในใจของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง