โอกาสและวิกฤติในครึ่งปีหลัง 2016

 โอกาสและวิกฤติในครึ่งปีหลัง 2016

มาถึงกลางปี 2016 ผมขอประเมินโอกาสและวิกฤติสำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลัง 2016 ในแง่ของโอกาสนั้น

ที่เด่นๆ ในปีนี้ ได้แก่

หนึ่งนโยบายการเงินเพิ่มเติมในญี่ปุ่น ยุโรปและอังกฤษ แน่นอนว่าที่ฮ็อดสุดๆ ได้แก่การทำ Helicopter Money ที่นายฮิโรฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นยังแทงกั๊กอยู่ โดยองค์ประกอบสำคัญ คือการทำให้งบประมาณของรัฐบาลขาดดุล หรือมีรายจ่ายมากกว่ารายรับแต่แทนที่จะใช้การออกพันธบัตรเพื่อเป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนการขาดดุลดังกล่าว กลับไปใช้การเพิ่มปริมาณเงินในระบบแบบถาวรแทน ซึ่งตรงนี้มีความใกล้เคียงกับการโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ที่บินอยู่บนฟ้าเป็นอย่างมาก แม้ว่าในทางกฎหมายของญี่ปุ่นจะยังไม่อนุญาตให้ใช้วิธีนี้ ทว่าด้วยเสียงในสภาของพรรครัฐบาลที่มีมากขึ้นกว่าในอดีตก็ไม่แน่ว่าหากวันไหนเศรษฐกิจญี่ปุ่นไปต่อไม่ได้จริง เราอาจได้เห็นมาตรการนี้ออกมาก็เป็นได้

หันมาดูฟากธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี แน่นอนว่าต้องมีการขยายเวลาการซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชนของอีซีบีหรือ QE ในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้การที่อีซีบีซื้อพันธบัตรเยอรมันจนอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตรติดลบ และจนแทบจะไม่เหลือให้ซื้อต่ออาจจะทำให้อีซีบีต้องเปลี่ยนเกณฑ์ในการทำ QE ฉบับยุโรปในเร็ววัน ด้านธนาคารกลางอังกฤษผมคิดว่า นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้และอาจจะเพิ่มปริมาณเงินในการทำ QE อีกด้วย

สองนโยบายการคลังของอังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป โดยรัฐบาลใหม่อังกฤษได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ทำให้งบรัฐบาลสมดุลภายในปี 2020 ตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วประกาศไว้ ทั้งยังย้ำอีกว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ผ่านนโยบายการคลังอีกด้วย เพื่อมิให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวมากเกินไปหันมาดูฝั่งรัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ได้เตรียมจะออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.68 แสนล้านดอลลาร์ในสัปดาห์หน้า ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้แม้จะยังอุบไต๋รายละเอียดว่า จะใช้ในโครงการประเภทใดบ้างก็ตาม ส่วนสหรัฐไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนางฮิลลารี คลินตัน จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ล้วนจะส่งผลให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนายทรัมป์ได้รับเลือก นอกจากนี้ภายใต้บรรยากาศซึ่งความเสี่ยงที่จะแตกออกจากกันของยูโรโซนมีสูงขึ้น เราน่าจะได้เห็นมาตรการรัดเข็มขัดของอีซีบีผ่านทางการเยอรมันมีความยืดหยุ่นมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อนโยบายการคลังของยุโรป

หันมาดูด้านวิกฤติกันบ้าง ผมคิดว่าในปีนี้และอาจจะรวมถึงปีหน้าด้วยมีดังนี้

วิกฤติแรก ได้แก่การทำประชามติและเลือกตั้งทั้งในยุโรปและอเมริกา เริ่มจากการทำประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ต้องการลดอำนาจของวุฒิสภาของอิตาลีในเดือนตุลาคมนี้ หากผลการโหวตออกมาว่าไม่รับ หรือ ‘No’ รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแมททิโอ เรนซิ อาจจะถึงกับต้องลาออก เช่นเดียวกับนายเดวิด คาเมรอน เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ การทำประชามติที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันที่ฮังการี ว่าด้วยโควตาของการรับผู้อพยพในประเทศและในวันเดียวกัน จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้นที่ออสเตรีย ซึ่งกระแสต่อต้านการรัดเข็มขัดมีอยู่สูงมากที่เป็นไฮไลต์ในปีนี้ เห็นจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เกิดชนะการเลือกตั้งขึ้นมานโยบายและทิศทางของประเทศอเมริกาจะเปลี่ยนโฉมจากในอดีตแบบสิ้นเชิง

สำหรับในปีหน้าเริ่มจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเนเธอร์แลนด์ช่วงเดือนมีนาคม โดยพรรคซึ่งโหนกระแสนโยบายประชานิยมมีแนวโน้มว่าอาจจะชนะการเลือกตั้ง และที่พลาดไม่ได้จริงๆ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไปในฝรั่งเศสในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ที่นางแมรีน เลอแปง หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่มีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติมีคะแนนนำในโพลล์การเลือกตั้ง ปิดท้ายปลายปีหน้าด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมันที่การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองหลักๆ ของประเทศได้ทำให้คะแนนเสียงของพรรครัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแองเกล่า เมอร์เคิล ลดลงมาเรื่อยๆ

ส่วนวิกฤติที่สอง ได้แก่วิกฤติธนาคารพาณิชย์ในยุโรปซึ่งถึงตรงนี้นักวิเคราะห์หลายท่านยังมองในแง่ดีว่าน่าจะไม่ลุกลามไปในวงกว้าง แตในส่วนตัวผมคิดว่าถึงตรงนี้ยุโรปคงจะเลี่ยงการใช้เงินอุ้มแบงก์ในอิตาลีและอาจจะรวมถึงในเยอรมันได้ยาก

โดยสรุป ในช่วงครึ่งปีหลังผมคิดว่าตลาดเงินและตลาดทุนน่าจะได้รับอานิสงน์จากวิกฤติมากกว่าโอกาสเล็กน้อยครับ