จีนกับอาเซียนที่เวียงจันทน์ : กลยุทธ์การทูตร้าวฉาน

จีนกับอาเซียนที่เวียงจันทน์ : กลยุทธ์การทูตร้าวฉาน

และแล้วจีนก็ได้ชัยชนะทางการทูตอีกครั้ง

เมื่ออาเซียน 10 ประเทศ ไม่อาจจะแสดงจุดยืนร่วมกัน ในประเด็นทะเลจีนใต้ เพื่อหาทางออกจากสภาพแห่งความอึดอัดขัดข้อง ทางการทูตระหว่างประเทศได้

แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จากกรุงเวียงจันทน์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ไม่เอ่ยถึงคำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ 12 เดือนนี้ที่ประกาศว่าจีนไม่มีสิทธิอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้

ข่าวจากในห้องประชุมบอกว่า กัมพูชาคัดค้านไม่ต้องการให้แถลงการณ์ร่วม ระบุถึงคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้

เหตุเพราะนายกฯ ฮุนเซนของกัมพูชายืนอยู่ข้างปักกิ่งเต็มตัว ออกมาประกาศคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลตั้งแต่ต้นแล้ว

จึงเป็นที่คาดหมายล่วงหน้าว่า รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาจะยืนกรานในเรื่องนี้อย่างไร

เพราะเมื่อคราวที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ประชุมกันที่กัมพูชาเมื่อปี 2012 การถกแถลงเรื่องนี้บานปลายไปถึง ขั้นที่ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้วยซ้ำไป

ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีอาเซียน ไม่อาจจะออกแถลงการณ์ร่วมกัน ถือเป็นจุดแตกร้าวชัดเจนครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

เพราะอิทธิพลจีนที่ล็อบบี้ผ่านกัมพูชาและอาเซียนอื่น ๆ ไม่ให้มีการพูดถึงประเด็นทะเลจีนใต้ ที่อาจจะกระทบต่อสถานภาพและความรู้สึกของจีน

จีนเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไปพบปะที่คุนหมิง ทางใต้ของจีนเมื่อเดือนก่อน

มาเลเซียปล่อยร่างแถลงการณ์ร่วมออกมา แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อประเด็นทะเลจีนใต้ แต่ก็ถูกเรียกคืนไป อ้างว่าเพื่อจะแก้ไขบางท่อนบางตอนที่ไม่สอดคล้องกับความเห็นส่วนรวม แต่ร่างนั้นก็หายเข้ากลีบเมฆไป ไม่มีการออกเป็นแถลงการณ์อีก

ทำให้เกิดการวิเคราะห์ตั้งแต่วันนั้นว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เวียงจันทน์ ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเป็นการทดสอบความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของอาเซียนอย่างเข้มข้น

ผลก็คืออาเซียนสอบตกในประเด็นของความเป็นเอกภาพ ในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเป็น หนึ่งเดียว ขององค์กรอายุ 49 แห่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

สปป. ลาวเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานหมุนเวียนของการประชุมครั้งนี้ ถูกวางอยู่ในสถานะกระอักกระอ่วน เพราะต้องเดินระหว่างเขาควาย ด้านหนึ่งต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นแกนของอาเซียน อีกด้านหนึ่งก็ไม่ต้องการจะมีความระหองระแหงกับจีน ซึ่งมีโครงการลงทุนและความร่วมมือกับประเทศลาวในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน

ท้ายสุด ถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมอาเซียนที่ออกมาวันจันทร์บอกเพียงว่า

“เรายืนยันอีกครั้งในความสำคัญของการรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัยและเสรีภาพในการเดินเรือ และการบินเหนือทะเลจีนใต้.... เราขอตอกย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็น ที่จะเสริมความไว้วางใจและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ใช้ความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความสับสนเพิ่มเติมต่อสถานการณ์...”

ไม่มีการเอ่ยถึงคำพิพากษา ของศาลอนุญาโตตุลาการที่จีนไม่ยอมรับ ไม่มีการระบุว่าจะแก้ไขปัญหา ที่ทำท่าจะบานปลายกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระดับโลกได้อย่างไร

นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่ากัมพูชากับลาว เห็นความสัมพันธ์กับจีนสำคัญกว่าความเป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่

คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือว่า ไทยเรายืนอยู่ตรงไหนของสมการนี้

ฺและหากจีนใช้ยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกเพื่อปกครอง” อาเซียน ได้สำเร็จในประเด็นใหญ่ ๆ ทั้งหลายเช่นนี้ 

อนาคตของอาเซียนจะเหลืออะไร?