นวัตกรรมในไทย กับความเป็นไปได้

นวัตกรรมในไทย กับความเป็นไปได้

รัฐบาลประกาศนโยบายการส่งเสริมนวัตกรรม

 โดยมีมาตรการสนับสนุนจำนวนมาก ทั้งจากมาตรการด้านภาษีจากภาครัฐ และการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ อย่างการสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ต้องการปรับโฉมใหม่ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาหรืออาร์แอนด์ดี ที่สังคมไทยมีปัญหามานาน แต่มาตรการทั้งหมดของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเมื่อไรนั้นยังเป็นเรื่องตอบได้ยาก เพราะมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความต่อเนื่องทางนโยบายและปัญหาของคนไทยเอง

จากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ให้การส่งเสริมด้านนวัตกรรม เพื่อหวังว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ของไทยนั้น ยังมีอุปสรรคอยู่มากที่ต้องก้าวให้พ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีการศึกษาสถานะของนวัตกรรมในสังคมไทย เพื่อใช้ประกอบการออกนโยบายมากนัก ดังนั้นนโยบายจำนวนมากที่ออกมาส่วนใหญ่มาจากการดูแบบอย่างจากต่างประเทศ และประเมินว่าอะไรที่ประเทศขาดแคลน แต่ข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินเชิงนโยบายนั้นมีค่อนข้างจำกัด โดยอาศัยเฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่มีข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอ

จากบทวิเคราะห์เรื่อง ‘นวัตกรรม’ : แรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทย ของ เสาวณี จันทะพงษ์ และ ขวัญรวี ยงต้นสกุล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของธปท. มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก แม้บทความนี้ทั้งสองคนระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับธปท. แต่ข้อมูลจากการวิเคราะห์อาจทำให้ต้องกลับมาพิจารณาเรื่องนวัตกรรมในประเทศไทยอย่างจริงจัง หากเราต้องการยกระดับประเทศเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก

ผลการศึกษานี้ได้สรุปว่า “ไทยมีส่วนร่วมในการผลิตและใช้นวัตกรรมที่มากขึ้น สอดคล้องกับผลวิจัยของ The Global Innovation Index2015 จัดทำโดย INSEAD พบว่าไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่โดดเด่นในกลุ่ม Upper-middle income countries จำนวน 38 ประเทศในด้านนวัตกรรม” แต่ “ไทยยังคงพึ่งพานวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก” โดยมี 2 ช่องทางคือ ช่องทางแรก วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพี ซึ่งตั้งแต่ปี 2543-2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงอยู่มากและกว่า 60% มาจากภาครัฐ 

ในช่องทางที่สอง การซื้อนวัตกรรมจากผู้คิดค้น โดยวัดจากสถิติดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยี ซึ่งสะท้อนถึงระดับการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยสัดส่วนดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีต่อจีดีพีของไทย โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2555-2558 อยู่ที่ 2.3% และหากรวมทั้งสองช่องทางแล้วจะเห็นได้ว่าไทยมีระดับการใช้นวัตกรรมไม่น้อยโดยพึ่งพาการคิดค้นของต่างประเทศเป็นหลัก โดย60% ของรายจ่ายทางเทคโนโลยีเป็นค่าที่ปรึกษาและการให้บริการทางเทคนิค และอีก 40% เป็นค่าบริการทรัพย์สินทางปัญญา

ดังนั้น หากพิจารณาจากการพึ่งพาเทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยค่อนข้างสูงอย่างยิ่ง และเศรษฐกิจไทยก็ยิ่งพึ่งพาตลาดโลกสูงมาก จึงเป็นคำถามว่าจริงๆแล้วเราต้องการนวัตกรรมแบบไหนที่เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง เพราะหากเรานำเข้านวัตกรรมเป็นหลัก และเรียนรู้การใช้มากกว่าคิดค้นขึ้นเอง จึงเป็นเรื่องใหญ่มากหากเราต้องการคิดค้นขึ้นเองในส่วนที่เป็นจุดแข็งของไทย ซึ่งคำถามในขณะนี้ก็คือเราได้มีการวางนโยบายในเรื่องนี้ละเอียดเพียงพอหรือไม่ หรือว่าเรามีเพียงแต่นโยบายการสนับสนุนเป็นการทั่วไปและยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ เราเห็นว่านวัตกรรมของคนไทยเองในส่วนที่เห็นว่าเป็นจุดแข็ง เช่นอุตสาหกรรมอาหารที่พูดกันมาก เป็นเรื่องเล็กกว่าเราวางนโยบายที่ชัดเจนและมุ่งมั่นเพียงพอหรือไม่ ในการผลักดันให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมของตนเองในเรื่องที่เป็นจุดแข็งของเรา