อยากเลือกตั้ง ยังไม่ตัดสินใจ

อยากเลือกตั้ง ยังไม่ตัดสินใจ

ใกล้โค้งสุดท้ายของการลงประชามติ "7สิงหาคม" เข้าไปแล้ว

แต่ก็น่าแปลกใจ ที่ผลสำรวจของ“นิด้าโพล” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจ ที่จะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญถึง 59.73% เลยทีเดียว

นั่นแสดงว่าประชาชนเหล่านี้ เทคะแนนไปทางไหน ทางนั้นก็ย่อมชนะประชามติแน่นอน

และจากที่ได้สัมผัสกับพี่น้องภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เชื่อว่าไม่น้อย ก็ยังไม่ตัดสินใจเช่นกัน เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงา และไม่สนใจเรื่องลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นความผิดแปลกอย่างสัมผัสได้จริงๆ ทั้งที่ “ตู่”จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และแกนนำคนเสื้อแดง ตลอดจนพรรคเพื่อไทยต่างประกาศชัดเจนว่า “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ทำไม การขานรับจนเป็นกระแสจึงไม่เกิดขึ้น?

อย่าลืมว่าเครือข่ายอันใหญ่โตทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่มีอะไรปิดกั้นได้อยู่แล้ว ถ้าต้องการให้ประชาชนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ แหล่งข่าวในพื้นที่วิเคราะห์ให้ฟังว่า แม้ส่วนหัวของทั้งพรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ก็แค่สร้างภาพยึดหลักการ “ประชาธิปไตย” เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วต้องการ “เลือกตั้ง”

ยิ่งอดีตส.ส. วันนี้แทบไม่มีบทบาทอะไร ไม่เหมือนช่วงที่เป็นส.ส. ไปไหนมาไหนมีแต่คนเคารพนบนอบ พูดอะไรก็เสียงดัง ทำอะไรก็น่าเชื่อถือ สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าโหยหาอยู่ในใจของอดีตส.ส.ทุกคนไม่ว่าพรรคการเมืองไหน

สำหรับชาวบ้าน หรือประชาชน ถ้าพูดถึงเรื่องการเมือง ก็มักต้องฟังจากหัวคะแนนอดีตส.ส. ว่าจะเอาอย่างไร ต้องการให้ตัดสินใจอย่างไร และถ้าต้องการให้ตัดสินใจ “คัดค้าน” ก็มักจะมีหัวคะแนนออกมาเคลื่อนไหว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้ ก็ทำในทางลึกทางลับ และทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ประชาชน ชาวบ้านอีสานต่างนิ่งเฉย หัวคะแนนก็ไม่เคลื่อนไหว อดีตส.ส.หายเข้ากลีบเมฆ อย่างนี้จะให้คิดอย่างไร ไม่คัดค้าน?” หรือให้ชาวบ้านตัดสินใจเอาเอง???

สิ่งที่แหล่งข่าววิเคราะห์ให้เห็นอีกอย่างก็คือ ชาวบ้านอยากให้มีเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ภายใต้รัฐบาลแบบไหน อย่างน้อยก็ยังมี “ส.ส.” ไปเป็นปากเป็นเสียง ในปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ยิ่งสภาพเศรษฐกิจปากท้องย่ำแย่ ยิ่งต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ในใจชาวบ้านยากแท้หยั่งถึงก็จริง แต่สิ่งที่เขาต้องการเลือกตั้ง ก็อาจบอกถึงการตัดสินใจเอาไว้แล้วได้เหมือนกัน