ก้าวสู่องค์กรนวัตกรรม อย่างไรให้เร็ว

ก้าวสู่องค์กรนวัตกรรม อย่างไรให้เร็ว

การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสินค้ามาตรฐาน มาเป็นสินค้านวัตกรรม ข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมคือ ความสามารถในการวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่

เนื่องจากได้มีโอกาสได้ให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรภาคอุตสาหกรรม และเริ่มมีคำถามเข้ามาเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมในองค์กร “จะเริ่มอย่างไรให้เร็ว” โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสินค้ามาตรฐาน มาเป็นสินค้านวัตกรรม สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมคือ ความสามารถในการวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ลำพังความเข้าใจในเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอที่จะคิดสิ่งใหม่ อีกทั้งไม่สามารถมองไกลไปในอนาคตได้ (Technology foresight)

 

แนวทางที่หนึ่ง การพัฒนาฐานความรู้ (Knowledge Base) เกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่หลากหลาย การผสมผสานจากคนหลายสาขา เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง นวัตกรรมที่ดีไม่ใช่มองแค่เพียงด้านเทคนิคเท่านั้น หากต้องการคนที่มีความรู้ด้านการออกแบบ นักการตลาด นักวิเคราะห์การลงทุน วิศวกรที่จะมาออกแบบระบบการผลิต เป็นต้น เนื่องจากนวัตกรรมยากมากที่จะเกิดขึ้นในคนเดียวกัน แต่มักจะเกิดจากมุมมองและความร่วมมือของคนหลายคน

 

แนวทางที่สอง การจ้างวิจัยหรือร่วมวิจัยกับภายนอก (Contract research หรือ Research collaboration) เป็นลักษณะโครงการที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ความเข้าใจในความต้องการของตลาดหรืออุตสาหกรรม จะกลายเป็นโจทย์วิจัยให้กับนักวิจัยจากศูนย์วิจัยหรือสถาบันการศึกษา ความจริงแล้วนักวิจัยในมหาวิทยาลัยของไทย ต้องการทำวิจัยแต่ขาดงบประมาณ ในขณะที่เอกชนมีงบประมาณ แต่ขาดผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นความลงตัวอย่างที่สุด ผลงานความสำเร็จจากงานวิจัยแบ่งปันกันอย่างยุติธรรม นักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานการคิดค้นสิ่งใหม่ในเวทีวิชาการ ผู้ประกอบการได้สิทธิบัตรหรือเทคโนโลยีที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

 

ถ้าเราเข้าไปมองถึงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม จะพบว่ามีความต้องการในเรื่องเดียวกันแต่หลากหลายมิติ ถ้าเรายกประเด็นเกี่ยวกับน้ำมัน หรือไขมัน ในอุตสาหกรรมหนึ่งอาจจะต้องการอะไรก็ได้ซักอย่างที่มีคุณสมบัติชอบน้ำมัน หรือเข้ากันได้ดีกับน้ำมัน หรือสามารถละลายไขมันได้ ในขณะที่ในอุตสาหกรรมหนึ่งอาจจะต้องการคุณสมบัติที่แตกต่างกัน คืออะไรซักอย่างที่ไม่ชอบน้ำมัน ไม่ละลายไขมัน ไม่ซึมซับ แยกตัวแยกขั้วกันอยู่ ความต้องการนี้ทำให้เกิดความคิดที่จะหาสารหรือวัสดุอะไรซักอย่างที่มาทำหน้าที่ตรงนี้

 

ผลิตภัณฑ์บางอย่างต้องการสารที่เมื่อเติมหรือผสมเข้ามาแล้ว ทำให้ปกป้องไขมันหรือน้ำมัน เพื่อนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ปกป้องหรือเคลือบผิววัสดุ (Coating) เช่น สีทาบ้าน ทาอาคาร ทาเครื่องจักร/อุปกรณ์ หรือแม้แต่สีรถยนต์ เป็นผลให้ปกป้องจากสิ่งสกปรก โดยเฉพาะคราบน้ำมัน จึงไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดบ่อย ทำความสะอาดได้ง่าย หรือไม่ต้องทำความสะอาดเลย

 

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งต้องการสารที่เมื่อเติมหรือผสมเข้ามาแล้ว มีความสามารถในการดูดซับหรือจับน้ำมันและคราบไขมัน แต่ก็นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เคลือบผิวได้เช่นกัน เช่น เครื่องสำอางทาตัว/ทาหน้า กระดาษซับมัน ยิ่งมีคุณสมบัติดูดซับได้มากยิ่งดี หรือนำมาทำความสะอาดกรณีมีการรั่วไหลของน้ำมัน เช่น น้ำมันรั้วไหลจากอุบัติเหตุทางถนน น้ำมันรั่วไหลจากเรือขนส่งในทะเล ผลิตภัณฑ์หรือสารดังกล่าวเมือโปรยลงไปก็จะจับกับน้ำมันเป็นก้อน ทำให้ตักทิ้งได้ง่าย ไม่กระจายไปในวงกว้าง

 

แนวทางที่สาม ซื้อเทคโนโลยีและมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับความต้องการ (Technology acquisition) จะเห็นว่าตัวอย่างที่ยกมาเรื่องเดียวแต่มีทั้งสองด้าน และสามารถประยุกต์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในความต้องการของผู้บริโภคมีมากมายหลายเรื่องมาก อาทิ คุณสมบัติความเป็นฉนวน คุณสมบัติการถ่ายเทความร้อน คุณสมบัติการสะท้อน คุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้น เป็นต้น ซึ่งความต้องการเหล่านี้มีมากในฝั่งอุตสาหกรรม แต่ด้วยพื้นฐานที่ชำนาญในการผลิต ไม่มีบุคลากรหรือความรู้ในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในระยะแรกคือ การซื้อเทคโนโลยีหรือสิทธิบัตรการประดิษฐ์ใหม่ๆมาใช้

 

แนวทางที่สี่ ทำวิจัยด้วยตัวเอง (Self R&D) กรณีที่เทคโนโลยีหรืองานวิจัยนั้นยังไม่มี เราต้องการเป็นรายแรกและรายเดียวที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ อีกทั้งยังต้องการให้ความลับนั้นอยู่ในวงจำกัด จำเป็นต้องลงทุนวิจัยเพื่อให้ได้เทคโนโลยีนั้นมา โดยนักวิจัยและห้องปฏิบัติการของตัวเองย่อมดีที่สุด การลงทุนมีศูนย์วิจัยของตัวเองเป็นการลงทุนที่สูงมาก และต้องใช้เวลานานมากกว่าจะถึงจุดที่ใช้ประโยชน์ได้จริง การบ่มเพาะหรือมีนักวิจัยแบบเต็มเวลาของตนเอง สามารถทำได้โดยการรับนักวิจัยในระดับปริญญาเอกจากภายนอก หรือโดยการให้ทุนกับนักศึกษาหรือพนักงานในระดับปริญญาตรีหรือโท เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก โดยหัวข้อวิจัยที่ทำเป็นโครงการวิจัยที่บริษัทว่าจ้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าเมื่อโครงการวิจัยสำเร็จ บริษัทไม่ใช่ได้แค่เพียงผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เท่านั้น หากแต่ได้นักวิจัยใหม่ที่สำเร็จปริญญาเอกกลับไปด้วย

 

แนวทางที่ห้า เปิดกว้างและร่วมมือกับองค์กรอื่น (Consortium) โดยนำความเชี่ยวชาญและชำนาญ หรือนำเทคโนโลยีที่ตนเองมี ไปผสมผสานกับเทคโนโลยีขององค์กรอื่น เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่โดยลำพังองค์กรเดียวไม่สามารถทำได้

 

มีอีกคำถามหนึ่งซึ่งหลายบริษัทได้ถามผมว่า “จะลงทุนสร้างศูนย์วิจัยอย่างไรให้คุ้มค่า เหมาะสม และเกิดประโยชน์อย่างที่สุด” ซึ่งผมมีคำตอบของคำถามนี้ โดยทำเป็นข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยในแต่ละวิธี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งจะขอนำมาเล่าให้ฟังในครั้งหน้า