นโยบาย Capital Markets Union อนาคตอียูหลัง Brexit

นโยบาย Capital Markets Union อนาคตอียูหลัง Brexit

รัฐบาลใหม่ของสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของนาง Theresa May ยังต้องตัดสินใจว่าสหราชอาณาจักร

จะออกจากอียูตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนและสามารถเจรจาความความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ในอนาคตได้อย่างไร และเมื่อใดความไม่แน่นอนทางการเมืองของอียูที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบในเชิงนโยบายของอียูอีกด้วย

การเมืองอียูหลัง Brexit ส่งผลฉับพลันต่อนโยบายตลาดทุนของอียู

ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองของอียู ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรในช่วง 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีความสำคัญต่อทิศทางนโยบายที่อียูจะให้ความสำคัญในอนาคตเท่านั้น แต่ตำแหน่งของบุคลากรและท่าทีที่สำคัญต่อนโยบายอียูของสหราชอาณาจักรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ Lord Jonathan Hill กรรมาธิการยุโรปด้าน Financial Stability, Financial Services and Capital Markets Union ซึ่งเป็นผู้บริหารอียูระดับสูงสุดของสหราชอาณาจักร และเป็นผู้ผลักดันนโยบายสหภาพตลาดทุน (Capital Markets Union) ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2559 ภายหลังการประกาศผลการลงประชามติ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะได้เสนอชื่อ Sir Julian King เป็นกรรมาธิการยุโรปจากสหราชอาณาจักรแทน Lord Jonathan Hill แล้ว แต่การดำรงตำแหน่งด้านนโยบายที่สำคัญของบุคลากรจากสหราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภายุโรปกรรมาธิการยุโรป หรือแม้แต่ท่าทีของรัฐบาลสหราชอาณาจักรต่อนโยบายที่สำคัญของอียูคงไม่มีใครยอมรับได้อีกต่อไป

เนื่องจากสหราชอาณาจักรจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายเหล่านี้อีกต่อไปในอนาคต แต่สมาชิกอีก 27 ประเทศที่เหลือยังคงต้องปฏิบัติตามและรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายเหล่านี้เพื่อให้สภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปให้การรับรอง Sir Julian King เข้ารับตำแหน่งกรรมาธิการยุโรปจากสหราชอาณาจักรต่อไปได้ นาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคงไม่สามารถมอบหมายภาระหน้าที่ที่เคยอยู่ภายใต้ Lord Jonathan Hill ให้แก่ Sir Julian King ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย Capital Markets Union ที่อียูและสหราชอาณาจักรเคยหวังที่จะนำมาใช้เพื่อผลักดันกลไกตลาดทุนของอียูให้มีประสิทธิภาพจากการเป็นตลาดร่วมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้สหราชอาณาจักรจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเจรจาเพื่อออกจากอียูในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันการระดมทุนจากตลาดทุนในสหราชอาณาจักรมีจำนวนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46) ของการระดมทุนจากตลาดทุนทั้งหมดในอียู และทุก 1 ใน 4 ธุรกรรมทางการเงินในตลาดทุนทั้งหมดของอียูเป็นธุรกรรมผ่านผู้ให้บริการในสหราชอาณาจักร (ตามข้อมูลอ้างอิงของ Association for Financial Markets in Europe: )

อนาคตของ Capital Markets Unionยังคลุมเครือ

นโยบาย Capital Markets Union เป็นความคิดริเริ่มของคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดร่วมที่ปัจจุบันแม้ประเทศสมาชิกจะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ยังมีอุปสรรคคือ มาตรการการกำกับดูแลทำให้ภาคธุรกิจของอียูไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนในอียูได้อย่างเต็มที่ และยังคงต้องพึ่งพาการระดมทุนจากตลาดทุนในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นโยบายนี้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของ Investment Plan for Europe ที่คณะกรรมาธิการยุโรปภายใต้การนำของนาย Juncker ต้องการนำมาเสริมสร้างประสิทธิภาพของตลาดร่วม โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่เพื่อให้ประเทศสมาชิกและภาคธุรกิจขนาดใหญ่สามารถระดมทุนเพื่อนำมาลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้นในการขยายกิจการซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอีกทางหนึ่ง

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มใช้นโยบาย Capital Markets Union เมื่อเดือนกันยายน 2558 ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาตรการด้านการกำกับดูแลตลาดทุนต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อลดต้นทุนในการถือครองทรัพย์ของบริษัทประกันภัยและบริษัทที่รับประกันภัยต่อ ในการลงทุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการเสนอแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของหนังสือชี้ชวนการลงทุน เพื่อให้กระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การระดมทุนจากตลาดทุนทำได้ง่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎระเบียบกำกับดูแลการปรับโครงสร้างธุรกิจและหนี้สินในภาคธุรกิจ พร้อมทั้งศึกษาสภาพและกฎระเบียบการกำกับดูแลการระดมทุนแบบสาธารณะ (crowd funding) ในประเทศสมาชิก และเมื่ออียูขาดประเทศสมาชิกที่มีอุตสาหกรรมการเงินที่สามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่อย่างสหราชอาณาจักรแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการดังกล่าวจากประเทศสมาชิกที่เหลืออย่างเพียงพอหรือไม่

ดังนั้น ในยุคที่ตลาดทุนมีความเป็นโลกาภิวัตน์สูง ผลกระทบจากการขาดประสิทธิภาพในตลาดทุนของทั้งอียูและสหภาพอาณาจักรไม่เพียงแต่จะเพิ่มต้นทุนของธุรกรรมในตลาดทุนของกองทุนบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีต่อผู้ลงทุนทั้งรายสถาบันและรายย่อยทั่วโลกเท่านั้นแต่ยังจะลดโอกาสในการระดมทุนของธุรกิจ หรือการลงทุนอย่างไร้พรมแดนเช่น crowd funding อีกด้วย