แผนพัฒนาฯ12 กับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

แผนพัฒนาฯ12 กับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

วันที่ 1 ต.ค.2559 ประเทศไทยจะมีการประกาศ

ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแผนหลักในการพัฒนาประเทศ ระหว่างปี 2560 – 2564

ความพิเศษของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้นอกจากเป็นช่วง 5 ปีแรกของการก้าวตามเส้นทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560 - 2579) ที่มุ่งสู่การเป็นประเทศ มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน แผนพัฒนาฯฉบับนี้มีการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ไว้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5 การเร่งรัดการลงทุนภาครัฐเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนเติบโตปีละ 7.5%

การเพิ่มมูลค่าส่งออกให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% ต่อปี เกษตรกรจะต้องมีรายได้สุทธิเพิ่มเป็น 59,460 บาท/ปี และรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท%และการเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรเป็น 8,200 ดอลลาร์ฯสรอจากปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 ดอลาร์ฯสรอ./คน/ปี

เป้าหมายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่ตั้งไว้ในแผนนี้ นับว่ามีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และผันผวนสูง ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน ซึ่งมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ยังทำให้บรรยากาศการค้าโลกซบเซา

เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะขยายตัวต่ำ และแทบไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะกินระยะเวลาอีกยาวนานเท่าไหร่ ดังนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% และการส่งออกขยายตัวเป็นบวกปีละ 4%ไม่ใช่เป้าหมายที่ง่ายนัก

นอกจากนั้นนโยบายดอกเบี้ยต่ำและติดลบ ที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำมาใช้ น่าจะคงอยู่อีกไม่น้อยกว่า 3 ปี จะทำให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า กระแสเงินทุนไหลเข้า–ออก จะมีความรวดเร็วและรุนแรงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะมีเพิ่มขึ้นด้วย

รายงาน“The Global Risks Report 2016” ของ“World Economic Forum” ได้ระบุว่าโลกมีความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังอย่างน้อย 10 ด้าน ที่หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ได้แก่ การไม่สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตน้ำ (ภัยแล้ง/น้ำท่วม) การอพยพย้ายถิ่นขนาดใหญ่ วิกฤตการคลัง ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ สังคมที่ไร้เสถียรภาพ อาชญากรรมไซเบอร์ การว่างงาน และความขัดแย้งระหว่างรัฐ

การตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างท้าทาย นับว่ามีความจำเป็นในภาวะที่ทุกประเทศมีการแข่งขันกันสูง หากแต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือการวางแผนรับมือความเสี่ยง จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกอย่างจริงจัง และเป็นระบบเพื่อไม่ให้กระทบกับเป้าหมายสำคัญ ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้