รัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกี : ทุกฝ่ายล้วนมีทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด

รัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกี : ทุกฝ่ายล้วนมีทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด

ภาพแรกจากความพยายามก่อรัฐประหารที่ตุรกี

 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม และภาพที่สองเกิดขึ้นที่เมืองจีน เมื่อปี 1989

มีความเหมือนกันตรงที่ประชาชนธรรมดา กระโดดเข้าขวางรถถังทหารที่ก่อเหตุทางการเมือง จนกลายเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

หนีไม่พ้นว่าจะต้องมีการเปรียบเทียบการพยายามก่อรัฐประหารที่ตุรกี กับของไทย แต่หลายปัจจัยที่แตกต่างทำให้ทั้งฝ่ายเห็นพ้องและเห็นต่าง ไม่อาจจะนั่งลงถกแถลงกันให้แตกหักไปข้างใดข้างหนึ่ง

ทุกวงสนทนาจึงมิอาจตีให้แตกได้ว่าความหมายของ ประชาธิปไตยกับ รัฐประหารที่ต่างก็อ้าง ทำเพื่อประชาชนนั้น เอาเข้าจริงๆ จะนิยามให้สอดคล้องต้องกับความเป็นจริง ของชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศอย่างไร

สรุปตรงกันได้เพียงว่าไม่ว่าใครคิดจะก่อเหตุอันใดด้วยกำลังทหาร หากประชาชนไม่เล่นด้วย ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้

สาเหตุที่ความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวจนกลายเป็น กบฏ มีคนตายกว่า 260 คน ถูกจับกว่า 6,000 และปลดจากตำแหน่งกว่า 9,000 คนนั้น เกิดการวิเคราะห์กันมากมายหลากหลายทาง

ใครสนใจ ทฤษฏีสมรู้ร่วมคิด จะต้องสนุกกับข้อมูลที่มาจากทุกด้าน

คนที่ต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี รีเซ็บ เทย์ยิบ เออร์โดกัน (Recep Tayyip Erdogan) บอกว่านี่เป็นแผนที่ผู้นำประเทศวางแผนให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้ยึดครองอำนาจต่อไปให้ยาวนาน

ฝ่ายเข้าข้างรัฐบาลชี้ไปที่ผู้นำศาสนาที่ชื่อ Fethullah Gulen (เฟตูลาห์ กูเลน) ซึ่งพำนักอยู่ที่สหรัฐ

บางคนบอกว่านี่เป็นแผนโค่น นายเออร์โดกัน โดยการวางแผนของซีไอเอมะกันเพราะไม่พอใจที่เขาโอนเอียงเข้าข้างรัสเซีย

คนไม่ชอบประธานาธิบดีปัจจุบันบอกว่า เขาเป็นพวกบ้าอำนาจ ทำทุกอย่างเพื่อจะให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ และใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบในการคงไว้ซึ่งระบอบ “เผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภา”

คนที่ชื่นชมเขายืนยันว่า เออร์โดกัน เป็นผู้มากู้ประเทศตุรกี และที่เกิดเรื่องร้ายครั้งนี้ ก็เป็นเพราะเขาเป็น เหยื่อ ของการประลองกำลังกับอำนาจมืดที่หนุนโดยพลังจากข้างนอก

ที่น่าสังเกตคือพรรคการเมืองส่วนใหญ่และประชาชนจำนวนมาก ออกมาต่อต้านการก่อรัฐประหารครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าเผด็จการพลเรือนดีกว่าเผด็จการทหาร

ฝ่ายคัดค้านระบอบปัจจุบันออกมาคัดค้านแนวคิดนั้น ยืนยันว่าการที่ความพยายามรัฐประหารล้มเหลว ไม่ได้แปลว่าประชาธิปไตยจะแข็งแกร่งขึ้น

ฝ่ายทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดบอกว่า ทหารจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับในข้อหาร่วมก่อรัฐประหารนั้น หน้าตายังหนุ่มแน่น เหมือนเป็นทหารเกณฑ์ใหม่ที่ถูกหลอกให้ไป “ซ้อมรบ” โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกใช้ให้เล่นเป็นตัวละครก่อรัฐประหาร

เออร์โดกันกับกูเลนเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาช้านาน เมื่อเกิดเหตุการณ์คราวนี้ ต่างก็อ้างว่าถูกอีกฝ่ายหนึ่งสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งตน

ต่างชี้นิ้วไปอีกข้างหนึ่งว่าใช้กลเม็ดสกปรกเพื่อล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง

ที่แน่นอนคือความขัดแย้งในสังคมตุรกีจะรุนแรงหนักหน่วงขึ้น เพราะแยกกันเป็นสองฝ่ายอย่างชัดแจ้ง เมื่อผู้นำปัจจุบันปราบกบฏได้ ก็สั่งกวาดล้างข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และผู้พิพากษา ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก

ไม่แต่เท่านั้น ยังปลดคณบดีในมหาวิทยาลัยกว่าพันคนและครูเป็นหมื่นคน อีกทั้งยังปิดโรงเรียนจำนวนมาก เพราะถูกข้อหาว่าสถาบันการศึกษาเหล่านั้น ถูกตั้งโดยกูเลน เพราะสอนแนวคิดแบบใหม่ แตกต่างไปจากแนวจารีตศาสนา

ล่าสุด รัฐบาลสั่งห้ามนักวิชาการทั่วประเทศออกนอกประเทศ หลังสั่งพักงานครู 15,000 คน และให้คณบดีทุกมหาวิทยาลัยยื่นใบลาออก หลังปราบความพยายามก่อรัฐประหารสำเร็จ

และรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน 3 เดือน...ซึ่งอาจจะยืดเยื้อยาวนานต่อไปอีก หากสถานการณ์ยังปั่นป่วนอย่างที่เห็นกัน

ความขัดแย้งทางศาสนาแนวเก่ากับใหม่ คือสาเหตุแห่งความขัดแย้งหนักที่จะทำให้ตุรกีกลายเป็น รัฐไร้เสถียรภาพไปอีกนาน