ความกังวลของนักลงทุน

ความกังวลของนักลงทุน

ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุน ของตลาดหุ้นทั่วโลก

ที่มีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่นักลงทุนยังคงชะงักงันต่อจำนวนความเสี่ยง ในภาพรวมของเศรษฐกิจและการเงินที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องหลังจากการลงประชามติ ของชาวสหราชอาณาจักรให้ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านที่ระดับ 97% ก่อนที่จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยที่ 96.93% ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทิศทางของค่าเงินสกุลต่างๆ เป็นไปอย่างไม่แน่นอน แต่นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กลับบอกว่าตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราโลกไม่มีสภาพการณ์ที่ผันผวนผิดปกติหลัง Brexit และไม่มีความจำเป็นที่กลุ่ม G-20 จะต้องทำข้อตกลงพิเศษเพื่อเข้าแทรกแซงตลาดค้าเงินเหตุจากสกุลเงินจำนวนหนึ่งคือ เงินปอนด์ ยูโรและหยวน มีค่าลดลงรุนแรงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินเยนกลับมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้น

ทั้งนี้ผลกระทบจาก Brexit ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G-20 ที่เมืองเฉิงตูของจีนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยมีเสียงเรียกร้องให้กลุ่มนี้พิจารณาหามาตรการ กระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสริมเสถียรภาพของตลาดการเงิน อย่างไรก็ตามการซื้อขายหุ้นทั่วโลกในช่วง 3 สัปดาห์หลัง Brexit ที่เป็นไปอย่างคึกคักและทำให้ดัชนีหุ้นในตลาดสำคัญๆ ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 เดือนนั้น มาจากเม็ดเงินการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางจากประเทศใหญ่ๆ จับมือกันพยุงหุ้นเป็นจำนวนถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะจากการเปิดสว็อปไลน์สภาพคล่องเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลัก ผสมผสานกับธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางยุโรป รวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่น

นอกจากนี้ผลจากเม็ดเงินมหาศาลที่ทะลักออกมานี้ กลับส่งผลให้ตลาดบอนด์ทั่วโลกให้ผลตอบแทนที่ติดลบมากขึ้นคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์แล้วในปัจจุบันนี้ ซึ่งทำให้รัฐบาลเยอรมนีฉวยโอกาสออกบอนด์อายุ 10 ปีจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋วเป็น 0% อย่างที่ไม่เคยปรากฏเป็นประวัติการณ์มาก่อน ส่วนบอนด์อายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องโดยมีแนวโน้มว่ามีการออกบอนด์เพิ่มอีก 20 ล้านล้านเยน หรือมากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์เป็นงบประมาณรัฐบาลใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ โดยภาวะผลตอบแทนบอนด์จะติดลบไปอีกนานซึ่งสะท้อนมาจากบอนด์อายุ 50 ปีของสวิส ดังนั้นสภาวการณ์ดังกล่าวจะยังทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกทั้งในบอนด์ หุ้น และค่าเงินสกุลต่างเกิดความไม่แน่นอนและอาจจะมีความผันผวนรุนแรงเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การเมืองโลกที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็ทวีความรุนแรง กลายเป็นความกังวลของนักลงทุนมากขึ้นเป็นทวีคูณ หลังจากผู้นำตุรกี ประกาศภาวะฉุกเฉินนานถึง 3 เดือน จากเหตุการณ์รัฐประหารล้มเหลวเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่นำไปสู่การกวาดล้างฝ่ายที่มีถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่ตรงข้ามรัฐบาลกว่า 50,000 คนที่มีทั้งบุคคลระดับสูงในกองทัพ พลทหาร ตำรวจ และรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐด้านการศึกษากับครูในโรงเรียนเอกชนรวมกันถึง 36,000 คน อีกทั้งกระแสข่าวจากทางการบราซิลสามารถทำการรวบตัวผู้ต้องสงสัย 10 คนว่าอาจเป็นเครือข่ายก่อการร้ายเตรียมวางแผนโจมตีในช่วงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้าน Geopolitics และความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลก อาจจะทำให้หลายคนเชื่อว่าจะส่งผลบวก ต่อกระแสเงินทุนไหลเข้า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยด้วยนั้น แต่ความเสี่ยงในความผันผวนที่รุนแรงก็ยังเป็นความกังวลของนักลงทุนในเวลานี้