ส่องโลก สู่ขุมทรัพย์การลงทุน

ส่องโลก สู่ขุมทรัพย์การลงทุน

ความน่าเบื่อที่...ดี (Stability over excitement)

ครั้งก่อน เราพูดถึงความผันผวนของการลงทุนในหุ้น คือแม้ว่าหุ้นจะให้ผลตอบแทนคาดหวังสูง แต่บางช่วงก็มีโอกาสขาดทุนได้มากเช่นกัน ความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง เช่น หุ้น จนเทหมดหน้าตัก นับว่าเสี่ยงมาก เป็นเหตุให้ผู้วางแผนการลงทุนมีคำพูดฮิตติดปาก คือ “ลงทุนหลายๆ อย่าง” หรือภาษาทางการคือ “กระจายความเสี่ยง (Diversification)”ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการรักษาและต่อยอดเงินในกระเป๋า นั่นเอง

เคยลองหยุดพิจารณาสินทรัพย์ทั้งหมดที่ลงทุนอยู่ไหมคะว่ามีอะไรบ้าง เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น 3 ประเภทสินทรัพย์ยอดนิยม คือ เงินฝากธนาคาร หุ้น และที่ดิน ระยะหลังๆ อาจมีลงทุนในตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เพิ่มขึ้นบ้าง เพราะดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคารลดลงและมีจำนวนตั๋วแลกเงินหรือหุ้นกู้ออกมาขายมากขึ้น บริษัทเอกชนใช้จังหวะดอกเบี้ยต่ำ ระดมเงินเพื่อลดต้นทุนของตัวเอง เรียกว่า Win – Win ทั้งนักลงทุนและผู้ออกตั๋ว ว่าแต่ ลงทุน 3-4 อย่างแบบนี้ ถือว่ากระจายความเสี่ยงได้ดีหรือยัง?

การกระจายความเสี่ยงมีหลายมิติ ไม่ว่าจะกระจายตามประเภทสินทรัพย์ ภูมิภาค หรือเวลาเข้าลงทุน แต่มิติที่สำคัญและใช้กันแพร่หลายคือกระจายตามประเภทสินทรัพย์ เช่น ลงทุนทั้งในเงินฝาก หุ้น พันธบัตร/หุ้นกู้ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโภคภัณฑ์ เป็นต้น หลักของการเน้นลงทุนหลายๆ อย่าง...ก็เพื่อเป็นโล่กำบังต่อเหตุการณ์ไม่คาดหวัง ทำให้เกิดแรงเทขายในสินทรัพย์ เพราะราคาของสินทรัพย์แต่ละประเภทจะตอบสนองต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ปกคลุมไปด้วยปัจจัยมากมายและเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทขึ้นลงรวดเร็วและรุนแรงมากกว่าอดีต ที่สำคัญ นอกจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องการเมืองและนโยบายภาครัฐ ลองสังเกตพาดหัวข่าวที่วนเวียนเรื่อง...การลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่จะออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือมาตรการใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่นอาจจะใช้อัดฉีดเงินเข้าระบบ ซึ่งล้วนยากต่อการคาดการณ์ผลลัพธ์และฟันธงได้ว่าสินทรัพย์ใดจะทำกำไรสูงสุดโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ

เห็นได้จากกราฟที่แสดงผลตอบแทนของสินทรัพย์ 5 ประเภท ได้แก่ พันธบัตร หุ้นกู้เอกชน หุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นในประเทศเกิดใหม่ และโภคภัณฑ์ ในสภาวะตลาดที่ต่างกันของ 3 ช่วงหลักๆ ช่วงแรก คือส.ค.-ก.ย. 2558 ที่เป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ของตลาดการเงินทั่วโลก จุดกระแสโดยธนาคารกลางจีน (PBoC)ลดค่ากลางเงินหยวนถึง 3% ในวันเดียว ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าเศรษฐกิจจีนกำลังย่ำแย่ ท้ายที่สุด หุ้นทั่วโลกถูกเทขาย โดยเฉพาะหุ้นในประเทศเกิดใหม่ที่ราคาลงแรงถึง 12% ใน 2 เดือน ในช่วงนั้น มีเพียงพันธบัตรเท่านั้นที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก

ช่วงที่ 2 คือ ม.ค. 2559 ที่ตลาดการเงินโกลาหลอีกครั้ง จากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 26.21 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเวลาเพียง 20 วัน ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงถึง 28% สังเกตจากกราฟที่ชี้ให้เห็นถึงผลตอบแทนโภคภัณฑ์ที่ขาดทุน อย่างไรก็ดี หุ้นกลับกระทบหนักกว่า เพราะผลตอบแทนโภคภัณฑ์มีทองคำอยู่ด้วย ซึ่งในเวลาที่นักลงทุนกังวลกับตลาดน้ำมัน ราคาทองคำยังเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนที่เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ราคาน้ำมันที่ลงแรงกลับกระทบไปที่ผลประกอบการของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานที่เป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาดถูกเทขาย ทั้งนี้ พันธบัตรยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเป็นบวก

ช่วงที่ 3 คือ ก.พ. และมี.ค. 2559 ที่ราคาหุ้นพลิกกลับจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สังเกตได้ว่าในช่วงนั้นทุกสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่แกว่งตัวแรงสุด ปรับขึ้นถึง 13% ชนะพันธบัตรที่ทำผลงานดีมาก่อน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลตอบแทนครึ่งปีแรก 2559 พันธบัตรยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 12%

ครั้งหน้า เราจะมาคุยกันต่อว่า หากลงทุนผสมผสานหลายๆ สินทรัพย์ตามที่เกริ่นข้างต้น ผลตอบแทนรวมจะเป็นอย่างไร อะไรคือความน่าเบื่อที่ดี หรือการแสวงหาความสมดุลบนผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และถ้าผลตอบแทนไม่น่าตื่นเต้นแล้ว...จะสามารถต่อยอดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้หรือไม่...แล้วพบกันค่ะ