ทางออกของคนสูงวัยไทย

ทางออกของคนสูงวัยไทย

คนสูงวัย ต้องมีเงินออม และ มีบ้านของตัวเอง คนที่ดีที่สุด ที่จะเลี้ยงดูตอนเกษียณไม่ใช่ลูกหลาน ญาติมิตร แต่คือ 'ตัวเราเอง'

ความจริงประการหนึ่งเรื่องประชากรในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 10 ประเทศ คือ ประเทศไทยเรามีคนแก่ (ขออนุญาตเรียกว่า คนสูงวัย) เป็นสัดส่วนที่สูงมาก... มากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์เท่านั้น

แต่เราต้องไม่ลืมว่า 'สิงคโปร์' จัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าไทยเรามาก เป็นศูนย์กลางการเงิน การค้า และการลงทุนของภูมิภาคนี้มานาน จึงวางระบบบ้านพักอาศัย ทุนเกษียณ ระบบการศึกษา และระบบป้องกันประเทศ จนเป็นพื้นฐานอันหนาแน่น

อย่างระบบบ้านที่อยู่อาศัยรัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายให้ทุกคนควรมีบ้านของตนเอง การมี 'บ้านเป็นของตัวเอง' คือ ครอบครัวมีความมั่นคงเพราะมีที่พักอาศัยและในอีกแง่มุมหนึ่งหมายถึงการมีทรัพย์สินชิ้นใหญ่เป็นของตัวเอง ผู้คนจะมีความมั่งคั่ง สามารถอยู่กันได้โดยไม่ก่อความวุ่นวาย

หรือ ระบบเงินทุนเกษียณ รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้จัดเงินหลวงมาเลี้ยงดูคนสูงวัยแบบไร้ทิศทาง แต่ใช้วิธี 'ออมภาคบังคับ' นั่นคือการบังคับให้คนทำงานทุกคน ต้องออมเงินไว้เลี้ยงดูตัวเองในยามแก่เฒ่าเป็นการบังคับออม ซึ่งระบบนี้ ประเทศมาเลเซียก็มีในแนวเดียวกัน หลักการคือ ใครทำงานหาเงินได้มากออมได้มากกว่าก็จะมีเงินใช้มากกว่าตอนแก่ ระบบนี้คือระบบพึ่งพาตนเอง โดยรัฐจะช่วยออมสมทบและลดหย่อนภาษีเป็นแรงจูงใจอีกทาง

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ... เรากำลังมีคนสูงวัย คนเกษียณแล้ว ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้จำนวนมากขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งตามสูตรเรื่องบริหารเงินทอง เขาว่าคนแก่จำเป็นต้องมีของ 2 อย่าง เป็นของตัวเอง
หนึ่ง...เงินออมของตัวเอง สอง... บ้านของตัวเอง

ข้อหนึ่ง เงินออม...ขอเรียนตามตรง ผมคิดว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมี 'เงินออม' น้อยมากประเทศไทยไม่ได้มีการออมภาคบังคับ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นิยมทำประกันชีวิต และธรรมชาติของเรา ... เป็นคนที่ชอบใช้จ่าย สุข สนุก

แถมคนไทยจำนวนมาก ยังกลัวการลงทุนกันอยู่ ...ไม่กล้าซื้อหุ้น ไม่เอากองทุน ไม่กล้าซื้อที่ดิน ฯลฯ สุดท้ายถือเงินสดพอถือเงินเยอะเข้า... ก็จะมีช่องฟุ่มเฟือยออกเอง
คำถามคือ ถ้าคนไทยไม่มีเงินออม ไม่มีบำนาญ ไม่มีลูกหลานเลี้ยง จะใช้ชีวิตยังไง อีกตั้ง 25 ปี (60 ถึง 85 ปี)???
ไปดูที่ข้อสองครับ

ข้อสอง บ้านตัวเอง… ท่านอาจจะงง ว่ามีบ้านของตัวเองแล้วไงคืองี้ ... บ้านในชื่อท่านเอง มีความหมายมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยที่ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีลูกหลาน หรือ มีลูกหลานแต่ไม่มาดูแล ทางออกนี้เรียกว่า Reverse Mortgage

ปกติเรากู้ (Mortgage) ซื้อบ้าน เราผ่อนจ่ายให้แบงค์ใช่ไหม ... Reverse Mortgage คือ ย้อนกลับ ให้แบงค์มาซื้อบ้านเรา โดยผ่อนจ่ายเงินให้เราสรุปมันคือ โปรแกรมสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินบำนาญ ไม่มีเงินออม แต่มีบ้านเป็นของตนเอง เอาบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงิน สร้างระบบบำนาญให้ชีวิตตัวเองได้ไว้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้.... โมเดลนี้ ทำจริงแล้วที่เกาหลีใต้

มี 3 รูปแบบการรับเงิน คือ 1.รับเป็นเงินเดือนไปตลอดชีวิตที่เหลือ 2. รับเงินเป็นเทอมแบบกำหนดระยะเวลา เช่น20 ปี 30 ปี 3.รับเป็นเงินเดือนและมีวงเงินสำหรับยามจำเป็น ระหว่างที่รับเงิน ผู้สูงวัยก็อยู่บ้านตัวเองต่อไปนั่นแหละครับไม่ต้องย้ายออกไปไหน

• กรณีเสียชีวิตเร็วเงินที่ได้รับไปน้อยกว่าราคาค่าบ้าน ที่เกาหลีจะคืนส่วนต่างให้ทายาท

• กรณีอายุยืน รับเงินจนทะลุมูลค่าบ้าน ก็รับเงินต่อไป รัฐบาลเกาหลีจะไม่เรียกคืนส่วนต่างกับทายาท แต่จะแบกรับภาระไว้เอง (ต่างจากอเมริกา ที่จะมีการเรียกคืนส่วนต่างจากทายาท) ของไทย เริ่มเห็นความคืบหน้า จากบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งกำลังศึกษารูปแบบกันอยู่ สิ่งนี้สำคัญนะครับ คนสูงวัย ต้องมี เงินออม และ มีบ้านของตัวเอง 

อย่าลืมว่า คนที่ดีที่สุด ที่จะเลี้ยงดูตัวเราตอนเกษียณ ...ไม่ใช่ลูกหลาน ญาติมิตรที่ไหน

แต่คือ "ตัวเราเอง" ตอนที่ยังหนุ่มสาวอยู่