ยิ่งโลกหมุนเร็ว ยิ่งต้อง 'ปรับตัว'

ยิ่งโลกหมุนเร็ว ยิ่งต้อง 'ปรับตัว'

กระแสข่าวการปรับลดพนักงานในภาคธุรกิจ

 ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะในไทยเท่านั้น สาเหตุใหญ่ๆ คือ เทคโนโลยีล้ำสมัยที่เข้ามาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม การบริหารจัดการ ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องปรับตัวให้ไว ขณะที่ เศรษฐกิจที่ผันผวนยังเป็นต้นเหตุสำคัญ

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฟอกซ์คอนน์ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่เริ่มลงทุนทางด้านเอไอ (AI) แล้วโดยได้ปรับเปลี่ยนถึงจุดที่ “หุ่นยนต์” เริ่มทำงานทดแทนมนุษย์ในสายการผลิตมากขึ้น ฟอกซ์คอนน์ปลดพนักงานไปราว 60,000 คนจากพนักงานทั้งหมด 110,000 คน เหลือพนักงานเพียง 50,000 คนเท่านั้น

ไม่เพียงฟ็อกซ์คอนน์เท่านั้น ที่มีแนวโน้มปลดพนักงานลักษณะนี้ เพราะรายงานข่าว ระบุว่า ปีที่ผ่านมามีบริษัทไต้หวันทั้งสิ้น 35 แห่งที่ลงทุนด้านเอไอรวมกันทั้งสิ้น 610 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 21,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ให้ฉลาดขึ้น

ขณะที่ การสำรวจจากภาครัฐของไต้หวันเองชี้ว่ามีบริษัทอีกกว่า 600 แห่งที่ต้องการดำเนินตามแนวทางนี้ หลังจากนี้ต้องจับตาดูอนาคตการผลิตและอนาคตแรงงานเหล่านี้กันว่า จะเป็นอย่างไรกันต่อไปกับการมาของหุ่นยนต์ที่ทดแทนการทำงานของคนได้มากขนาดนี้

หันกลับมามองที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในไทย กำลังถึงจุดเปลี่ยนเช่นกัน โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่เฉพาะแค่หุ่นยนต์อย่างเดียว แต่รวมไปถึงอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) ระบบบิ๊กดาต้า ระบบเซ็นเซอร์ รวมถึงการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชั่นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนกระทบถึงการทำงานของพนักงานยุคปัจจุบัน ดังนั้นการเพิ่มทักษะของพนักงานให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในยุคอุตสาหกรรรมสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก  

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า อีก 3-5 ปีในภาคอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะมีส่วนผสมระหว่างการบริหารจัดการแบบออโตเมชั่น และโรโบติก(Robotic) ไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานอย่างเดียว แต่จะเกิดการลงทุนในระบบที่ล้ำสมัย เช่น บิ๊กดาต้า อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวให้ทัน ไม่เช่นนั้นมีผลนักลงทุนอาจไม่เลือกประเทศไทย และจะเห็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นมากขึ้น เพราะเมื่อต้องนำระบบออโตเมชั่นและโรโบติกเข้ามาใช้ พนักงานต้องมีทักษะในอีกรูปแบบหนึ่ง และที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้มีจุดแข็งเรื่องนี้

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ขณะนี้ คือ สมาคมนายจ้างฯ กำลังหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อภาครัฐเพื่อแก้ปัญหา โดยมุ่งเติมทักษะให้พนักงานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงพนักงานในรุ่นเก่าด้วย ไม่เฉพาะพนักงานรุ่นใหม่อย่างเดียว สอดรับกับนโยบายรัฐที่จะก้าวไปสู่อินดัสทรี 4.0 โดยคาดว่าจะร่วมหารือกันอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

ทักษะการทำงานเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบของการทำงานยุคใหม่ ใครที่ปรับตัวได้คือผู้รอด ซึ่งระดับแรงงานนั้น ผู้ที่จะช่วยให้เขารอด มีรายได้ยังชีพต้องวางเป็นนโยบายจากรัฐ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาสะเปะสะปะหาทางออกโดยลำพังตัวเอง เพราะสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ของโลก รัฐ และเอกชนต้อง เร่งหารือทำความเข้าใจ มีมาตรการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมรองรับให้เร็ว ยิ่งช้า ยิ่งไม่ทันการณ์