จับตาการทูต‘ไม้แข็งไม้อ่อน’ ของจีน หลังคำวินิจฉัยศาลกรุงเฮก

จับตาการทูต‘ไม้แข็งไม้อ่อน’ ของจีน หลังคำวินิจฉัยศาลกรุงเฮก

ผมนั่งเขียนคอลัมน์นี้ที่ปักกิ่ง เช้าวันอังคาร

 เปิดหน้าหนึ่งของ China Daily มาหลายวัน ข่าวใหญ่เกือบทุกชิ้นคือ การประกาศจุดยืนของปักกิ่งด้วยเสียงเข้มข้นขึงขัง ว่าคำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการ ที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ 12 ก.ค.เรื่องทะเลจีนใต้เป็นเพียง ตลกร้าย”(farce) ที่จีนไม่มีวันยอมรับ

สื่อจีนเล่นข่าวหัวไม้ ใช้คำว่า 闹剧 (น่าวจวี้) หรือ “ตลกร้าย” กันอย่างอึกทึกครึกโครม

ท่ามกลางพาดหัว “ร้อนฉ่า” ในสื่อของจีนก็มีทั้งเสียงขู่และเสียงปลอบออกมาพร้อม ๆ กันจากทุกระดับของปักกิ่ง

ภาพนี้ขวามือคือผู้บัญชาการทหารเรือของจีน พลเรือเอกวูเซิ่งลี่ ที่กำลังสนทนากับผู้บัญชาการ หน่วยปฏิบัติการทหารเรือของสหรัฐ พลเรือเอกยอห์น ริชาร์ดสัน ที่มาเยือนจีนพอดีกับที่เกิดเรื่องนี้

นายทหารเรือระดับสูงของทั้งสองประเทศใช้ภาษา “เปิดใจ” กันอย่างตรงไปตรงมา

ฝ่ายจีนบอกมะกันว่า “ยังไง ๆ เราก็จะยังสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ต่อไป ไม่มีการหยุดยั้งกลางทางแน่นอน"

และยังสำทับว่า “กองทัพเรือจีนได้เตรียมพร้อมพอสมควร สำหรับการล่วงล้ำอธิปไตยทางทะเล หรือการยั่วยุที่อาจจะเกิดขึ้น”

แต่ขณะเดียวกันนายทหารเรือจีนก็บอกว่า แม้จะมีปัจจัยทางลบ แต่เราก็ยินดีที่จะแก้ปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติ อีกทั้งยังบริหารและควบคุมวิกฤตนี้ ผ่านกฎกติกาและกลไกที่เหมาะสม”

นี่คือการใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและการทูต

เพราะในสัปดาห์เดียวกัน ทางการจีนก็ให้สถาบันสังคมศาสตร์ประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences หรือ CASS) จัดสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technology University of Singapore) ขึ้นมาอย่างฉับพลันทันด่วนที่สิงคโปร์ เชิญนักวิชาการและสื่อมวลชนจากหลายประเทศ มาร่วมถกแถลงประเด็นทะเลจีนใต้ เพื่อให้มีมุมมองด้านการเมืองและการทูต เพื่อนำไปสู่การสรุปว่าทางออกของปัญหานี้ต้องอยู่ที่การเจรจา ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์เท่านั้นหรือประเทศที่เป็นคู่กรณีเท่านั้น

ปักกิ่งยังยืนยันว่าจะต้องเป็นการพูดจากัน ในระดับตัวต่อตัวหรือทวิภาคี ไม่ใช่พหุภาคีอย่างที่อาเซียนเรียกร้องต้องการ

แต่ในบัดดลนั้นเอง เสียงจากรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์คนใหม่ เปอร์เฟคโต ยาเซย์ ก็ยังไม่มีท่าทีโอนอ่อนอย่างที่ปักกิ่งได้คาดหวัง จากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี ดูเตอร์เต้

เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศจากมะนิลา บอกรัฐมนตรีต่างประเทศจีนที่ชื่อ หวังอี้ ว่าฟิลิปปินส์ไม่อาจจะยอมรับข้อเสนอของจีน ให้เจรจากันสองต่อสอง โดยไม่ต้องสนใจคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮก เพราะนั่นย่อมจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและผลประโยชน์แห่งชาติของเรา

แต่หวังอี้กับบอกรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์อย่างไม่เกรงใจว่า หากเขาต้องการให้จีนยอมรับคำพิพากษานี้ เราสองชาติก็อาจจะกำลังเดินเข้าสู่ภาวะการเผชิญหน้า

ขณะเดียวกัน เวียดนามก็สอดแทรกเข้ามาอีกทางหนึ่ง เพราะสื่อจีนรายงานข่าวว่านายกรัฐมนตรีเหงียนซวนฟุค ได้บอกนายกฯ หลี่เค่อเฉียงของจีนที่มองโกเลียว่า “เวียดนามเคารพจุดยืนของจีนและสนใจที่จะเจรจากับจีนแบบทวิภาคี”

สื่อเวียดนามสวนกลับทันควันว่า สื่อจีนบิดเบือนประเด็นนี้อย่างจัง เพราะเวียดนามยังยืนกรานว่าตอบรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ ซึ่งแปลว่าฮานอยกับปักกิ่งยืนอยู่คนละข้างกันโดยสิ้นเชิงในเรื่องนี้

อีกด้านหนึ่ง ส.ส. ของไต้หวันกลุ่มหนึ่ง เตรียมจะนั่งเรือไปขึ้นเกาะไท้ผิง ในหมู่เกาะสแปรตเลย์ในทะเลจีนใต้ เพื่อยืนยันอธิปไตยของไต้หวันเหนือเกาะแก่งแห่งนั้น หลังจากคำพิพากษาของศาลที่กรุงเฮก แม้ว่าจีนจะใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนในเรื่องนี้ แต่บรรยากาศความตึงเครียดดูเหมือนจะแผ่ซ่านไปอย่างกว้างขวาง

เพราะลึก ๆ แล้วจีนถือว่านี่คือการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เพราะปักกิ่งปักใจว่าวอชิงตันเป็นคนยุแยงฟิลิปปินส์ และชาติอื่นที่ต่อต้านจีนในเรื่องทะเลจีนใต้

คลื่นลมในทะเลจีนใต้จึงปั่นป่วนขึ้นมาอย่างหนักหน่วง และยังไม่มีทีท่าว่าแต่ละฝ่ายจะหาทางลงจากจุดยืนของตัวเองอย่างไร

แต่แน่นอนว่าจีนไม่ได้ต้องการจะก่อสงคราม และสหรัฐก็ไม่ประสงค์จะเปิดศึกในย่านนี้ ขณะที่ยังติดพันกับสงครามในตะวันออกกลางและจุดอื่น ๆ

ทางออกสำหรับทุกฝ่ายจึงอยู่ที่การเจรจาหาทาง ที่จะถอยกันคนละก้าวเพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้

หาไม่แล้ว ทะเลจีนใต้จะกลายเป็น เวทีเดือดอีกจุดหนึ่งของโลก... ที่ท้ายสุดไม่มีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้มากหรือน้อยเท่านั้นเอง