'โรคไร้เดียงสา' หน้าฝน

'โรคไร้เดียงสา' หน้าฝน

วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วทุกมุมเมือง

 เมื่อ “เครือข่ายกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย” ออกมาเรียกร้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่โปร่งใส เปิดพื้นที่แสดงความเห็น และบอกให้ชัด หากประชามติไม่ผ่านจะเอาไง

ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตก็คือ ผู้สนับสนุนลงนามในคำแถลง 117 คน กับอีก 17 องค์กร

เนื่องจากสังคมไทยในวันนี้ และวันหน้า ยังหนีไม่พ้นวังวนความขัดแย้งทางความคิดของประชาชน “2 กลุ่ม 2 ขั้ว”

ดังนั้น “117 คน กับ “17 องค์กร ที่ปรากฏตัวในนามเครือข่ายกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย ก็ไม่ต่างจาก “ต้มจับฉ่าย” หม้อใหญ่ ประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่มก้อนความคิด

กลุ่มก้อนใหญ่สุดคือ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ไม่มีกลิ่นอายการเมือง

รองลงมาก็เป็นตัวแทน 2 พรรคการเมืองใหญ่ และนักพัฒนา-นักกิจกรรม

พรรคเพื่อไทยมีแนวทางสร้างแนวร่วม “ต้าน คสช.” อย่างมั่นคง จึงไม่รีรอที่จะเข้าร่วมขบวนการ พลเมืองโลกสวย

แต่พรรคประชาธิปัตย์นั้นอยู่ในสภาพ “เบี้ยหัวแตก” แม้กลุ่มอดีต ส.ส.ที่มาลงชื่อส่วนใหญ่อยู่ในปีก “หัวหน้ามาร์ค” แต่ก็ถูกอดีต ส.ส.กลุ่มเดียวกันนั่นแหละ หยามหยันว่า เชอะ! ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย

      มองในแง่ปัจเจกชน แกนนำหลักเครือข่ายกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย ก็เป็นนักวิชาการที่แสดงจุดยืนการเมือง แนว คิกขุอาโนเนะมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว

ขณะที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งมีทั้ง “ไม่เอาทหาร” และ “ไม่เอาทักษิณ” พวกเขามาลงนามสนับสนุนอย่างมีนัย

เอ็นจีโอบางคนเคยร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนฯ เคยสนับสนุน กปปส. แต่ตอนหลังไม่พอใจกลุ่มทหาร ผู้ถืออำนาจที่ปล่อยให้ “ทุนใหญ่” รุกรานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่น่าสนใจ เซเล็บการเมืองหลายคนที่มี สีเสื้อชัดเจน แต่ก็มาลงนามร่วมกับเครือข่ายฯ เพราะเกรงตกกระแส และมีวาระแฝง เรียกราคาให้คนวงใน คสช.ได้เห็น

ส่วน “สมณะดาวดิน” เสรีชนสันติอโศก ไม่ค่อยฟังคำเตือนของพ่อท่านโพธิรักษ์ และการไปลงชื่อก็กระทำการไปโดยส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับกองทัพธรรม

แกนหลักพลเมืองโลกสวย ฝันว่า “พฤษภา 35” จะกลับมา หาก คสช.ไม่ฟังข้อเรียกร้อง แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า บริบททางสังคมมันต่างกัน มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน

โลกความจริงคือ ความขัดแย้งที่รอวันแตกหัก ใครที่ไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนติดเชื้อโรคไร้เดียงสา