ข้อเท็จจริงการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูของคนไทย

ข้อเท็จจริงการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูของคนไทย

ช่วงนี้ข่าวลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูเหลือ0%กำลังมาแรงอย่างมาก ซึ่งก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ที่ไม่เห็นด้วย ก็ให้เหตุผลว่า ประเทศไทยเรามีจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่สวยงาม วัฒนธรรม วัดวาอาราม มากกว่าที่จะเป็นแหล่ง ช็อปปิ้ง และที่จะลดภาษีนำเข้าที่มีอัตรา 30% -45% ให้เหลือ 0% ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาขายจะลด 30% -45% และภาครัฐก็จะสูญเสียรายได้ กว่าหมื่นล้านบาท

ส่วนที่เห็นด้วย ก็ว่าไม่อยากให้คนไทยไปช็อปปิ้งที่ต่างประเทศ เพื่อจะได้เงินตราหมุนเวียนในประเทศ และ ประเทศชาติจะได้รายได้จากการขายให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งภาครัฐสามารถทำให้สินค้านอกระบบอย่าง สินค้าหิ้วมาขายตาม อินสตราแกรม เฟสบุ๊ค และช่องทางออนไลน์อื่นๆ ลดลงและมาจำหน่ายในช่องทางที่สามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผู้เขียนอยากนำเสนอข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่าน ทั้งที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย กับนโยบายลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม

ข้อเท็จจริงการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูของคนไทย

    1.จากการศึกษาของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา การเดินทางสู่ต่างประเทศค่อนข้างสะดวกขึ้นและค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ลดลงมาก ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูงเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก และการไปจับจ่ายซื้อสินค้าในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าที่จำหน่ายในต่างประเทศมีราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าเดียวกันที่จำหน่ายในประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตรา 9% ต่อปี
    2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา  แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้ากลับมีปริมาณที่น้อยมาก  เพียงร้อยละ 3 ต่อปี เท่านั้น
    3.ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี2557  ระบุว่าพบนักท่องเที่ยวชาวไทยมีการใช้จ่ายในต่างประเทศสูงถึง 170,032 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายการซื้อสินค้าแบรนด์ต่างประเทศที่มีจำหน่ายในประเทศไทยจำนวนเงินสูงถึง 50,840 ล้านบาท

         4.ตรงกับสถิติของ Global Blue ที่ระบุว่า นักท่องเที่ยวคนไทยไปซื้อสินค้าแบรนด์หรูในต่างประเทศภายในร้านค้าปลอดอากรในภาคพื้นยุโรปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 6  ของนักท่องเที่ยวหลายประเทศทั่วโลก

    5.การจับจ่ายซื้อสินค้าแบรนด์หรูต่างประเทศที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50,800  ล้านบาท เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของไทยลดลง  หากเราสามารถนำมูลค่าการจับจ่ายดังกล่าวนี้มาสู่ประเทศไทย  ก็จะทำให้มีเม็ดเงินมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจการบริโภคภายในประเทศได้เพิ่มขึ้น   เพราะเมื่อมีการจับจ่ายภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในระบบห่วงโซ่เศรษฐกิจกว่า 4 รอบ ซึ่งส่งผลต่อภาครัฐสามารถเก็บภาษีจากการดำเนินธุรกิจ  รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาหาร และค่าโรงแรมได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
    6.จากข้อมูลมูลค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 9 หมวดจาก 17 หมวดตามนิยามของของกรมศุลกากร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2015 มีมูลค่าสูงถึง 114,821 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาในมิติของภาษีนำเข้า พบว่า มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (Duty paid) มีมูลค่า 45,168.70 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีตาม พรบ. ศุลกากร ( Duty free) มีมูลค่าสูงถึง 87,815.83 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า มูลค่าสินค้านำเข้า Duty paid ถึงร้อยละ 78 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความได้เปรียบจากกฏหมายด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้า ได้ทำลายโครงสร้างการค้าปลีกในเมืองอย่างสาหัส มูลค่าสินค้าจำหน่ายใน Duty free ไม่กี่แห่งมีมูลค่าสูงกว่าร้านค้าในเมืองหลายพันร้านค้าถึงเกือบเท่าตัว

         7.“ตลาดของหิ้ว” หรือ “grey market” ปัจจุบันตลาดนี้ใหญ่มาก จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีผู้ประกอบการ ที่ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงผ่านช่องทาง social media ถึง 1,005,000 ราย แต่มีเพียง 2% เท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์หรูบางรายประมาณว่า มูลค่าสินค้านอกระบบ grey market ใหญ่พอๆกับตลาดสินค้าในระบบ ซึ่งสินค้านอกระบบส่วนนี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐ เพราะไม่ได้เสียภาษี ทั้งในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล และภาษีอากร

    8.จากข้อมูลการตลาด มูลค่าค้าปลีกออนไลน์มีสัดส่วนราว ร้อยละ 3 หรือราว 9 หมื่นล้านบาท จากของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกราว 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งภาครัฐแทบจะไม่ได้อะไรจากมูลค่าค้าปลีกออนไลน์นี้เลย หากเพียงแค่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่หายไปก็ราว 6,300 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมภาษีบุคคล และ ภาษีนิติบุคคล ที่รัฐพึงจะได้อีกไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ในขณะที่กรมศุลกากรสามารถเก็บภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยในปี 2557 ได้เพียง 9,610 ล้านบาท

แม้ว่า ประเทศไทยเรามีจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่สวยงาม วัฒนธรรม วัดวาอารามแต่สิ่งเหล่านี้มาดูครั้งเดียวก็เลิกไป แล้วก็ไปดูที่ประเทศอื่นๆ ต่อ แต่สิ่งที่จะจูงใจจริงๆของการมาซ้ำของนักท่องเที่ยวก็ คือ การช้อปปิ้งการทำให้ประเทศไทยเป็น Duty Free City  ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อ สินค้าและยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการใช้จ่ายในประเทศให้มากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆอาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้าน จำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ  รวมถึงการทำให้ “ตลาดของหิ้ว” ลดลง ประเทศชาติได้ภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จึงเรียนมาเพื่อท่านทั้งหลาย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ได้พิจารณา