ทำไมต้องมีโครงการ Eastern Economic Corridor

ทำไมต้องมีโครงการ Eastern Economic Corridor

หลังการเดินทางของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการที่ระยองเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทุกคนคงเริ่มได้ยินกันมากขึ้น

เกี่ยวกับโครงการใหม่ของรัฐบาล ที่จะเร่งพัฒนาสามจังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยยกขึ้นเป็น ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor อันจะเป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่งกับอนาคตของประเทศไทยและอาเซียนต่อไป

จุดเริ่มต้นของ Eastern Economic Corridor

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว (ประมาณปี 2525) ในช่วงรัฐบาลของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันขับเคลื่อนการลงทุนครั้งใหญ่ ในบริเวณเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard โดยจัดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ทุกคนจะมาร่วมกันพัฒนา สร้างท่าเรือพาณิชย์น้ำลึกแห่งแรกของประเทศบริเวณแหลมฉบัง และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีบริเวณมาบตาพุด ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ในเขตชลบุรี เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พลิกภาคตะวันออกของไทยให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ

โครงการดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ของเศรษฐกิจไทย ทำให้เราก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของประเทศในภูมิภาค เป็นจุดหักเหสำคัญที่ช่วยสร้างอนาคตให้กับประเทศ นำไปสู่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 32 แห่ง โรงงานเกือบ 5 พันโรง ด้วยเงินลงทุนรวมกันกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เราสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สำคัญ (Detroit of the East) รวมทั้งกลายเป็นศูนย์การผลิตปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของเอเชีย

ความสำเร็จจากการลงทุนดังกล่าว ได้ยกระดับรายได้รวมของภาคตะวันออก จากเดิมที่มีสัดส่วนรวมกันเพียง 3.6% และ 10.3% ของ GDP ประเทศและกรุงเทพฯ ตามลำดับ เมื่อปี 2525 ขึ้นเป็น 17.7% และ 40% ในปี 2557 ทำให้รายได้ต่อหัวของคนที่อยู่ในภาคตะวันออกถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยน้อยกว่าคนกรุงเทพฯ 30% กลายเป็นมากกว่าคนกรุงเทพฯ 26%

จึงนับได้ว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกนี้ เป็นการ สร้างบ้านแปลงเมืองครั้งสำคัญ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมีที่สร้างขึ้น ได้กลายเป็นหัวใจที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน สร้างรายได้ให้ประเทศต่อเนื่องกว่า 30 ปี และเป็นจุดแข็งของไทย

แล้วทำไมต้องมี Eastern Economic Corridor

สาเหตุที่เราต้องมีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกรอบใหม่ ก็เพราะสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจรอบๆ ตัว กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของ AEC ที่เข้ามาเป็นตลาดเดียวกัน ฐานการผลิตเดียวกัน ด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน ตลอดจน การเกิดขึ้นของ ห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค อันเป็นผลมาจากความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อมโยงไทยเข้ากับจีนตะวันตก (คุนหมิง) และจีนตอนใต้ (นานนิง) กับ สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ทำให้บริษัทหลายแห่งซึ่งเคยตั้งโรงงานการผลิตอยู่ในไทย เลือกที่จะย้ายโรงงานบางส่วนไปตั้งอยู่ในพื้นที่เพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุน ช่วยให้สินค้าของเขาที่ผลิตใน ASEAN สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ต่อไปเราจะมี East West Corridor ทั้งด้านบนและด้านล่าง ที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับมหาสุมทรอินเดีย ทำให้ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผลิต การคมนาคมขนส่งของเอเชีย

อีกประเด็นที่ทำให้เราต้องยิ่งเร่งปรับตนเอง ก็คือ ในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา ไทยกำลังกินบุญเก่าจากความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมี แต่บุญเก่าเหล่านี้กำลังหมดไป โดยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาช่วยทดแทน ยกระดับโครงสร้างการผลิตของเราขึ้นไปอีกขั้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศอีกรอบสำหรับ 20 ปีข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงมีทางเลือกไม่มาก ต้องเร่งลงทุนใหญ่รอบใหม่เพื่อสร้างอนาคต โดยมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเป็นทางเลือกสำคัญ เพราะพื้นที่ดังกล่าว หากดำเนินการอย่างเหมาะสมจะสามารถก้าวขึ้นไปได้อีกระดับ กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของเอเชีย โดยเป็นประตูหรือ Gateway สำคัญของนักลงทุน สู่เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว ซึ่งประเทศเหล่าจะขยายตัวสูงใน 20 ปีข้างหน้า และประชากรเขาเมื่อรวมกับไทยมีประมาณ 240 ล้านคน (พอๆ กับอินโดนีเซีย) ทั้งยังจะเป็นประตูเชื่อมไปจีนตะวันตก จีนตอนใต้ และอินเดีย โดย EEC จะเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมที่สำคัญของอาเซียน เป็นจุดขนส่งและกระจายสินค้า เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเอเชีย

จะลงทุนอะไรบ้างใน Eastern Economic Corridor

หัวใจสำคัญจะอยู่ที่การลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ระหว่างถนน ระบบราง เรือ และอากาศ ซึ่งเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี แหลมฉบัง พัทยา สัตหีบ อู่ตะเภา มาบตาพุด และระยองเข้าด้วยกัน ตลอดจนเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ รอบไทย โดยจะลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ เช่น (1) โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ช่วงที่ มูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 10 ล้านคนในช่วง ต่อไป รวมทั้งจะเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบินและศูนย์การซ่อมบำรุงอากาศยานที่สำคัญสุดของอาเซียน (3) โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดที่สัตหีบ ให้เป็นท่าเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่และเรือ Ferry ที่จะเชื่อมโยงภาคตะวันออกของไทยไปยังหัวหิน ชะอำในเวลา 1 ชั่วโมงเศษ และเชื่อมโยงไปยังกรุงเทพ (4) การสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมระยอง และท่าเรือแหลมฉบังเข้ากับกรุงเทพ และภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศมูลค่าการลงทุนประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ ตลอดจน (5) การสร้างทางหลวงต่างๆ ในส่วนที่ยังขาดหายไปให้ครบถ้วนสมบูรณ์

พร้อมกันนี้ รัฐจะดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับประเทศ ในพื้นที่ประมาณ 30 x 50 กิโลเมตร รอบๆ บริเวณสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือจุกเสม็ด โดยปัจจุบัน ยังมีพื้นที่เหลืออีกประมาณ 30,000 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคตะวันออก ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเรา จะชักชวนให้มาลงทุน เช่น ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องบิน การซ่อมเครื่องบิน การพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (รอบๆ สนามบินอู่ตะเภา) ปิโตรเคมีขั้นสูง ยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์ (ในส่วนของแขนกล) ดิจิตัล โลจิสติกส์และการขนส่ง

รวมไปถึง สามารถใช้จัดสรรพื้นที่สำหรับนักลงทุนชาวจีน ชาวเกาหลีใต้ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนและอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สร้างเมืองวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นศูนย์กลางในการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการประกาศพื้นที่เขตประกอบการเสรี เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการค้า การผลิต และการลงทุน เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าให้กับอาเซียนต่อไป

หากทำได้เช่นนี้ Eastern Economic Corridor จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความพิเศษยิ่ง ที่ผสานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เข้ากับโครงข่ายการคมนาคม โลจิสติกส์ยุคใหม่ ทั้งทางบก ราง เรือ และอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนโดยภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในเมืองใหม่ ในภาคการท่องเที่ยว และโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะยกระดับภาคตะวันออกของไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียน และเอเชีย สร้างอนาคตให้กับลูกหลานคนไทย และช่วยให้ไทยก้าวออกจากปัญหา Middle Income Trap ในที่สุด

ขอเป็นกำลังใจให้กับประเทศไทยและทุกคนครับ