ไขข้อสงสัยคำตัดสินสะเทือนโลก

ไขข้อสงสัยคำตัดสินสะเทือนโลก

เพื่อทำเรื่องยากให้เข้าใจง่ายผมขออธิบายคำตัดสินข้อพิพาทระหว่างจีนและฟิลิปปินส์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ในลักษณะถาม-ตอบดังนี้ครับ

ถาม ใครเป็นคนตัดสินคดีนี้? เอาอำนาจอะไรมาตัดสิน?

คดีนี้ตัดสินโดยคณะอนุญาโตตุลาการจำนวน 5 คน ซึ่งเลือกขึ้นตามกฎเกณฑ์ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก มีสมาชิก 116 ประเทศรวมทั้งฟิลิปปินส์และจีน มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งรวมถึงข้อพิพาทภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) ซึ่งทั้งจีนและฟิลิปปินส์ล้วนเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว

ถาม จีนมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร?

จีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการตั้งแต่เริ่มต้น โดยจีนมองว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาและตัดสินคดีดังกล่าว (ไม่มีสิทธิอะไรมายุ่งเรื่องนี้!) เพราะหัวใจของข้อพิพาทเป็นเรื่องเขตแดนทางทะเล ขณะที่ตัวอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลแต่อย่างใด และเมื่อจีนเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ก็ได้ประกาศว่าการกำหนดอาณาเขตทางทะเลจะไม่ถูกนำมาพิจารณาร่วมกับกระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้ข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ ซึ่งจีนสามารถประกาศสงวนสิทธิในลักษณะดังกล่าวได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนฟิลิปปินส์ย้ำว่า ตนไม่ได้ขอให้อนุญาโตตุลาการกำหนดอาณาเขตทางทะเลในพื้นที่พิพาท เพียงแต่ขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดในเรื่องสิทธิต่างๆ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (แต่จีนเห็นว่าทั้งสองเรื่องเชื่อมโยงกัน แยกจากกันไม่ได้)

การที่จีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ต้นไม่ได้กระทบต่อการดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้ดำเนินการพิจารณาคดีดังกล่าวมา 3 ปีและได้มีคำตัดสินในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 ว่าตนมีเขตอำนาจในการพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าวและเพิ่งมีคำตัดสินสุดท้ายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ถาม อนุญาโตตุลาการตัดสินว่าอย่างไร?

คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ฟิลิปปินส์ชนะข้อพิพาท โดยตัดสินในประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประเด็นว่าจีนสามารถอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์เอาทรัพยากรในทะเลจีนใต้ได้หรือไม่ คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า สิทธิประวัติศาสตร์และเส้นประแนวกันชน 9 จุด (Nine Dash Line) ที่จีนอ้างนั้นไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย เพราะแม้ว่านักเดินเรือและชาวประมงจีนเคยใช้ประโยชน์จากเกาะในทะเลจีนใต้มาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ก็ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าจีนอ้างพื้นที่นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจมาก่อน

ประเด็นเรื่องสถานะของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้ามีลักษณะเป็น “เกาะ (islands)” ก็จะสามารถใช้ในการกำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไหล่ทวีปขยายไปได้จนถึง 200 ไมล์ทะเล แต่ถ้ามีลักษณะเป็น “โขดหิน (rocks)” จะทำได้เพียงการกำหนดทะเลอาณาเขต (territorial sea) ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลส่วนยิ่งถ้าเป็นเพียง “พื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด (low tide elevations)” หรือ “สันดอนจมน้ำ (submerged bank)” ก็จะไม่สามารถกำหนดอาณาเขตทางทะเลได้

คณะอนุญาโตตุลาการมองว่า พื้นที่ที่จีนเข้าไปถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมถือว่าเป็นการนำเข้าทรัพยากรจากที่อื่นมาใช้ประโยชน์ จึงไม่ถือว่ามีลักษณะเป็น “เกาะ” เพราะลักษณะของความเป็นเกาะนั้น จะต้องมีชุมชนที่ถาวร (stable community of people) หรือมีกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบริเวณนั้นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยทรัพยากรจากภายนอก เมื่อพบว่าไม่มีพื้นที่ส่วนใดที่จีนอ้างเข้าเกณฑ์ที่จะเป็น “เกาะ” ที่จะสามารถขยายออกไปเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ดังนั้น พื้นที่เหล่านั้นอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเส้นเขตแดนทางทะเลที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ถาม ผลในทางกฎหมายของคำตัดสินนี้เป็นอย่างไร?

คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจใดบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามคำตัดสินได้ การปฏิบัติคำตัดสินจึงต้องอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมพร้อมใจอยู่ดี

ถาม ถ้ารู้แต่แรกอยู่แล้วว่าสุดท้ายก็บังคับตามคำตัดสินไม่ได้ฟิลิปปินส์จะฟ้องคดีไปทำไม?

ฟิลิปปินส์หวังให้เกิดแรงกดดันจากนานาชาติต่อจีน ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่พิพาทหลายฝ่าย (จีน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย) ซึ่งหากคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เห็นว่าจีนอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์กับฟิลิปปินส์ไม่ได้ ก็ย่อมลดความน่าเชื่อถือที่จีนจะยังอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ในลักษณะเดียวกันนี้กับเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย ฟิลิปปินส์จึงคาดหวังให้จีนลดความแข็งกร้าวในเรื่องทะเลจีนใต้ลงนอกจากนั้น ยังหวังว่าผลการตัดสินจะช่วยสร้างแต้มต่อในการเจรจาสองฝ่ายกับจีนด้วย

ถาม การที่จีนประกาศไม่เคารพคำตัดสิน เคยมีตัวอย่างมาก่อนหรือไม่?

มีเช่น ใน ค.ศ. 1986 สหรัฐแพ้คดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ให้กับนิการากัว โดยในครั้งนั้นสหรัฐเองก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งตัดสินให้สหรัฐต้องชดใช้เงินให้กับนิการากัวถึง 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักวิชาการในจีนเองมักยกตัวอย่างคดีดังกล่าว และมองว่าสหรัฐไม่มีความชอบธรรมที่จะมาเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะตัวเองก็เคยไม่เล่นตามกฎเกณฑ์เช่นกัน นอกจากนั้น จนถึงปัจจุบัน สหรัฐยังไม่ยอมเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเองเลย

ในครั้งนั้น สุดท้ายสหรัฐได้ทำการตกลงกับรัฐบาลใหม่ของนิการากัวในการให้เงินทุนความช่วยเหลือต่างๆ จนนิการากัวยอมหยุดเรียกร้องและหยุดประณามสหรัฐตามคำพิพากษา

จึงน่าต้องติดตามด้วยใจระทึกว่า ในครั้งนี้ จีนจะแสดงท่าทีแข็งกร้าวจนยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาค หรือจะเลือกเดินตามรอยสหรัฐ สุดทางคือไม่ยอมรับคำพิพากษา แต่หันมาเจรจาทุ่มเงินซื้อใจรัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์ ซึ่งก็เพิ่งเข้าบริหารประเทศเมื่อไม่นานมานี้เองเช่นกัน