ความยั่งยืนของกิจการกับปัจจัยด้านสังคม

ความยั่งยืนของกิจการกับปัจจัยด้านสังคม

หากต้องการให้ธุรกิจมีความยั่งยืน จะต้องให้ความสนใจใน 3 ด้านสำคัญได้แก่ การสร้างรายได้ ความรับผิดชอบต่อสังคม และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจสมัยปัจจุบันจะเข้าใจได้อย่างดีว่า หากต้องการบริหารจัดการให้ธุรกิจมีความยั่งยืนในแง่ของรายได้หรือความมั่งคั่งและการดำรงอยู่ในตลาดได้อย่างยาวนาน ธุรกิจจะต้องให้ความสนใจกับผลประกอบการใน 3 ด้านที่สำคัญไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ ด้านการสร้างรายได้ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

เรียกกันว่า เป็นการสร้างสมดุลของธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยทั้ง 3 จะมีผลกระทบต่อผลกระทบต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นจากลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งหมายถึงการสร้างรายได้ การได้รับการสนับสนุนจากสังคมทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้า ตลอดไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ

บทความในสัปดาห์นี้ จะขอให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสังคม

การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจที่ต้องการให้ธุรกิจสามารถดำเนินการในตลาดต่อไปได้อย่างยั่งยืนยาวนาน จะเริ่มจากการสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกิจและเปิดเผยนโยบายและความประสงค์ของธุรกิจที่จะให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมว่าเป็นส่วนเป้าหมายหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ

การสร้างความโปร่งใสดังกล่าว สามารถทำได้ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ นโยบาย และเป้าหมายการดำเนินการด้านสังคมของธุรกิจให้สาธารณชนและคนทั่วไปได้รับทราบ

ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นเจตนารมณ์และความโปร่งใสของธุรกิจแล้ว ยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นจากสังคมทั่วไป และผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ องค์ประกอบที่สำคัญส่วนใหญ่อีกด้านหนึ่งได้แก่ การแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจมีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่มีการกดขี่ หรือเอาเปรียบแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

ควรหาวิธีที่เหมาะสมและเป็นไปได้ที่จะให้แรงงานหรือพนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นที่บริสุทธิ์ใจที่เป็นการรักษาผลประโยชน์ที่ควรได้ และสนับสนุนให้คู่ค้าของตนเองตลอดห่วงโซ่ธุรกิจได้ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมด้วยเช่นกัน

ธุรกิจ ควรพัฒนาศักยภาพให้กับแรงงานและพนักงาน ด้วยการส่งเสริมให้เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้พนักงานมีความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งเป็นเป้าหมายและผลประโยชน์ร่วมกันทั้งของพนักงานและของบริษัท

การดูแลเอาใจใส่ให้สภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานมีความเหมาะสมและมีความปลอดภัย เพื่อสุขภาวะของพนักงาน ป้องกันการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน และส่งเสริมให้พนักงานมีความตระหนักรู้ สามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ด้วยตัวเอง และขยายผลไปสู่เพื่อร่วมงาน หรือสมาชิกในชุมชนได้ต่อไป

บริษัทจะก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยพนักงานที่เก่งงานและมีความผูกพันและความภักดีต่อธุรกิจ

อีกประการหนึ่ง พนักงานก็คือส่วนหนึ่งของสังคมโดยตรง หากธุรกิจสร้างพนักงานให้มีความก้าวหน้าในงานอาชีพ ก็เป็นการสร้างหน่วยของสังคมอีกหน่วยหนึ่งให้แข็งแรง สังคมโดยรวมก็จะมีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์หนึ่งที่จะสร้างความผูกพันของพนักงานให้มีต่อธุรกิจ อาจสร้างได้ด้วยการดูแลพนักงานอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นในด้านการประเมินผลงานที่โปร่งใส มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเปิดเผย และใช้ผลของการประเมินมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพในการทำงานของพนักงานให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ต้องรวมถึงการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพนักงานระดับหัวหน้าหรือผู้บริหารด้วยเช่นกัน

เรื่องของการพัฒนาและการมีส่วนร่วมกับชุมชน ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ธุรกิจจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดยตรง เช่น การหมั่นสำรวจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ช่วยปรับปรุง ลดความเสียหาย หรือดูแลชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การช่วยให้ชุมชมได้พัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางเบื้องต้นให้ธุรกิจได้ตระหนักและเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อแสดงให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจไม่ได้เป็นการมุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ยังให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคม ในฐานะที่เป็นประชากรหรือเป็นสมาชิกที่ดีส่วนหนึ่งของสังคมอีกด้วย

ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการบริหารกิจการไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายและกลยุทธ์ที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้ควบคู่ไปกับการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจไปอีกทางหนึ่งด้วย!!!!