ไอเดียนวัตกรรมธุรกิจมาจากไหน?

ไอเดียนวัตกรรมธุรกิจมาจากไหน?

ถ้าจะถามว่า ไอเดียดีๆ ทางธุรกิจจะหาได้จากที่ไหน คำตอบคือมาได้จากหลายแหล่ง และไม่มีทางที่จะมีคำตอบสำเร็จรูป หรือคำตอบสุดท้ายเพียงคำตอบเดียว

ดังนั้น สตาร์ทอัพ รวมถึงนักธุรกิจสไตล์ลอกเลียนไอเดียทั้งหลายที่ไม่มีโจทย์แนวคิดธุรกิจในใจของของตนเอง จึงมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนั้น หรือหากประสบความสำเร็จ ก็มักจะเป็นความสำเร็จเพียงระยะสั้น ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีทางที่จะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนและสามารถขยายตัวต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

มีคำแนะนำจากกูรูสตาร์ทอัพหลายสำนัก ที่สอนให้สตาร์ทอัพที่ต้องการประสบความสำเร็จ เริ่มแสวงหาไอเดียธุรกิจที่โดดเด่น ด้วยการหันมาวิเคราะห์โมเดลธุรกิจที่ต้องการจะเริ่มต้นอย่างละเอียดในเชิงลึก

โมเดลธุรกิจ ก็คือ รูปแบบในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับ การเสนอคุณค่าหรือความโดดเด่นของสินค้าหรือบริการ และวิธีการที่จะเปลี่ยนคุณค่าของสิ่งที่นำเสนอต่อตลาด ให้กลายมาเป็นรายได้ให้กับธุรกิจ

การวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ ก็คือการทบทวนว่า จะขายอะไร ให้แก่ใคร ด้วยเหตุใด และจะใช้วิธีใดในการขาย (และการเก็บเงิน)

ตัวอย่างเช่น การพยายามหาคำตอบที่แท้จริงให้ได้ว่า ลูกค้า หรือผู้ที่ยินดีจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการจากเรานั้นเป็นใคร ที่ตัดสินใจจะมาเป็นลูกค้าของเรานั้น เกิดขึ้นจากอะไร เช่น ความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อหา รูปทรงหรือดีไซน์ที่เก๋ไก๋ คุณภาพของสินค้าและการบริการ ระดับราคา ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า คำตอบที่ได้รับจากการวิเคราะห์ในเชิงลึกนี้ จะนำไปสู่การคิดสร้างไอเดียที่ดีๆ ที่แปลกใหม่ ที่จะตรงใจลูกค้า หรือไอเดียที่จะสร้างความล้ำหน้าเกินกว่าผู้เล่นรายอื่นๆ ในท้องตลาด ที่มักเรียกกันว่า นวัตกรรม

แหล่งข้อมูลที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดไอเดียธุรกิจ อาจได้มาจากการสอบถามลูกค้า หรือการสอบถามผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นลูกค้าของเราแต่ไม่เลือกที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากเรา รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงจรธุรกิจ เช่น ผู้ผลิต คู่ค้า หรือแม้กระทั่งหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมทุน

ในบางครั้ง ไอเดียนวัตกรรมอาจเกิดขึ้นจากสิ่งที่ลูกค้ายังคิดไม่ถึงหรือไม่ได้คิดถึง! การวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ อาจนำไปสู่การสร้างไอเดียนวัตกรรมในรูปแบบนี้ขึ้นมาได้ เป็นนวัตกรรมที่ “เกินความคาดหมาย” ของลูกค้า

การเจาะลึกในโมเดลธุรกิจที่กำหนดไว้เพื่อปรับแต่งให้เป็นโมเดลที่ดีขึ้น อาจเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์หาว่า ความยุ่งยากใดบ้างที่เกิดในโมเดลธุรกิจในปัจจุบัน จะหาวิธีลดความยุ่งยากนั้นๆ ได้อย่างไร เพื่อทำให้ได้โมเดลธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขั้นตอนใดที่มีความซ้ำซ้อน ทำให้เกิดความล่าช้า และจะมีวิธีการใดที่ทำให้ขั้นตอนนั้นๆ ไหลลื่นได้ดีขึ้น ลดความล่าช้า หรือทำให้ธุรกิจกระฉับกระเฉงว่องไวได้มากขึ้น

ขั้นตอนใดที่ทำให้เกิดความสูญเสีย สูญเปล่า โดยไม่จำเป็น และจะมีวิธีการใดที่ลดความสูญเสียเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

ขั้นตอนใดที่อาจสร้างความไม่พึงพอใจให้กับลูกค้า และจะมีวิธีการใดที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจได้ดีขึ้นหรือดีมากที่สุด ฯลฯ

รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ในโมเดลธุรกิจที่เมื่อได้รับการวิเคราะห์เชิงลึกโดยละเอียด จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ความพึงพอใจของลูกค้าได้ดีขึ้น นำไปสู่การสร้างความจงรักภักดีของลูกค้าได้อย่างยาวนาน

ในฐานะที่เป็นสตาร์ทอัพ งานที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือการพยายามค้นพบว่า ลูกค้าจะนำสินค้าหรือบริการของเราไปใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อค้นพบประสบการณ์เหล่านี้ของลูกค้า ก็จะต้องค้นหาวิธีที่จะทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกง่ายดายให้มากขึ้นกว่าเดิม และมีความสุขที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการจากเรา

การค้นพบจนรู้ว่า ลูกค้านำสินค้าหรือบริการจากเราไปใช้อย่างไร จะเปิดโอกาสมากมายสู่การสร้างนวัตกรรม การพัฒนาสินค้า หรือแม้กระทั่งการได้ตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาจากไอเดียการใช้งานของลูกค้า ที่ถึงแม้อาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เดิมที่เจ้าของธุรกิจคิดไว้ แต่ก็ตอบโจทย์ความตรงใจของลูกค้าอย่างคาดไม่ถึงได้

เทคนิคในการเรียนรู้พฤติกรรมการใช้สินค้าของลูกค้า นอกจากการพบปะพูดคุยและการใช้แบบสอบถามตามปกติแล้ว ยังมีการนำเทคนิค “การสังเกต” มาใช้ประกอบด้วย

การติดตามไปสังเกตลูกค้าไปถึงสถานที่ที่ใช้งาน จะทำให้เจ้าของสินค้าได้สังเกตเห็นวิธีการนำไปใช้งานจริงของลูกค้า ซึ่งอาจจะทำให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าในรุ่นต่อไป หรือเห็นโอกาสในการขยายสินค้าเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ได้

สิ่งอื่นๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาโมเดลธุรกิจให้ทันสมัยขึ้น อาจได้มาจากการผสมผสานความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากไอเดียภายนอก เช่น ไอเดียจากคู่ค้า จากหน่วยงานวิจัย จากมหาวิทยาลัย

ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทดลองใช้ในธุรกิจเดิมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

ซึ่งก็หมายความถึงการสร้างนวัตกรรมให้กับโมเดลธุรกิจเดิม ให้มีความแปลกใหม่จนสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ดีขึ้นนั่นเอง