Brexit เป็นวิกฤติหรือโอกาสของจีน?

Brexit เป็นวิกฤติหรือโอกาสของจีน?

ภาษิตจีนกล่าวว่า “ในร้ายมีดีในดีมีร้าย” วันนี้ผมอยากชวนคุยว่า "Brexit" หรือผลประชามติของชาวอังกฤษ

ที่เลือกออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ชนิดสั่นสะเทือนไปทั้งโลกจะกลายเป็น เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีนที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงหรืออาจเป็น โอกาสท่ามกลางวิกฤติ” ของจีนกันแน่?

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ต้องขออธิบายก่อนว่า จีนมองยุโรปอย่างไร? และจีนมองอังกฤษอย่างไร?

จีนมองยุโรปเป็นแหล่งลงทุนแห่งสำคัญตัวเลขการลงทุนของทุนจีนในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 เป็น 55,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 และมีรายงานว่าในปีที่ผ่านมาการลงทุนของทุนจีนในยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 44% ภายในเวลาปีเดียว

สาเหตุที่จีนให้ความสำคัญกับยุโรปเพราะ 1) วิกฤติการเงินยุโรปในช่วงที่ผ่านมาทำให้กิจการหลายอย่างในยุโรปขาดแคลนเงินทุนทำให้มี “ของดีราคาถูก” จำนวนมากสำหรับให้บริษัทจีนรายใหญ่เข้าซื้อและควบรวมกิจการ 2) การลงทุนของจีนในยุโรปไม่ได้รับการต่อต้านมากเท่ากับการลงทุนของจีนในสหรัฐ 3) จีนลงทุนในยุโรปเพราะต้องการแบรนด์และเทคโนโลยี (แตกต่างจากที่จีนลงทุนในแอฟริกาเพื่อทรัพยากรธรรมชาติ) บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายแห่งไม่เสียเวลาและเงินทุนพัฒนา R&D แต่ใช้วิธีเอาเงินทุ่มซื้อกิจการและได้เทคโนโลยีมาเลยง่ายกว่า

ภายใต้ยุทธศาสตร์ บุกยุโรปของจีนนั้นจีนมองอังกฤษเป็นมหามิตรที่ ญาติดีกับจีนที่สุดในอียูรัฐบาลอังกฤษชุดปัจจุบันรักจีนเป็นพิเศษเพราะหวังเงินลงทุนจากจีนมาช่วยพยุงเศรษฐกิจดังที่อังกฤษเป็นชาติแรกในยุโรปที่เข้าเป็นสมาชิก AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) ที่จัดตั้งโดยจีน (ท่ามกลางความหงุดหงิดอย่างยิ่งของสหรัฐ) นอกจากนั้นอังกฤษยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนให้อียูให้สถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy Status) กับจีนนอกจากนั้นอังกฤษยังสนับสนุนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอียู-จีนอย่างออกนอกหน้าอีกด้วย

บริษัทจีนมักใช้อังกฤษเป็นฐานที่มั่นสำคัญก่อนที่จะขยายไปบุกตลาดของอียูนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาอังกฤษเป็นประเทศในกลุ่มอียูที่ทุนจีนเข้าไปลงทุนมากที่สุด นอกจากนั้นลอนดอนได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าเงินหยวนที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากฮ่องกง ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นนานาชาติให้กับเงินหยวนของจีนก็ว่าได้ธุรกรรมสำคัญในลอนดอนที่โด่งดังเช่นธนาคารประชาชนจีนขายพันธบัตรสกุลเงินหยวนมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ และธนาคารการเกษตรแห่งชาติจีนขายพันธบัตรมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ครึ่งหนึ่งเป็นพันธบัตรสกุลเงินหยวน)

ข่าวเรื่อง "Brexit“ จึงสั่นสะเทือนข้ามทวีปไปถึงเมืองจีน บริษัทจีนหลายแห่งอาจต้องทบทวนแผนการลงทุนในอังกฤษเพราะเมื่ออังกฤษออกจากอียูบริษัทจีนที่ตั้งฐานที่มั่นในอังกฤษเพื่อที่จะขยายการค้าการลงทุนในยุโรปก็จะไม่ได้สิทธิพิเศษอีกต่อไป จึงต้องมาประเมินกันใหม่ว่าควรใช้ประเทศอื่นในอียูเป็นฐานจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ เพราะตลาดอียูมีประชากร 450 ล้านคน ขณะที่อังกฤษเป็นตลาดขนาดกลางที่มีประชากรเพียง 65 ล้านคนเท่านั้น

แม้กระทั่งแผนการใช้ลอนดอนเป็นฐานสร้างความเป็นนานาชาติให้กับเงินหยวนก็ต้องมาคิดทบทวนกันใหม่ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินของอังกฤษสามารถเปิดสาขาและทำธุรกรรมได้ทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป แต่เมื่ออังกฤษออกจากอียูย่อมกระทบต่อสิทธิพิเศษของสถาบันการเงินอังกฤษในภูมิภาคยุโรปด้วย

ที่สำคัญ "Brexit" ย่อมทำให้จีนขาดอังกฤษที่เป็นกระบอกเสียงให้จีนในอียู ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าในระยะสั้นอียูจะมีท่าทีปิดกั้นการลงทุนจากจีนสอดรับกับแนวคิดชาตินิยมที่เริ่มขยายวงไปทั่วยุโรป รวมทั้งเยอรมันและฝรั่งเศสก็ดูมีท่าทีที่ “แข็ง” กับจีนมากกว่าอังกฤษ

ผลกระทบโดยตรงอีกอย่างก็คือแรงกดดันให้จีนปรับลดค่าเงินหยวนเมื่ออังกฤษออกจากอียูส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนหันมาลงทุนในสกุลเงินที่ดูมีเสถียรภาพ สุดท้ายย่อมมีผลกดดันให้ธนาคารแห่งชาติจีนลดค่าเงินหยวนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของจีน แม้ว่าการลดค่าเงินหยวนจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของจีน แต่ก็จะส่งผลให้มีเงินไหลออกนอกประเทศจีนเป็นจำนวนมากซึ่งทำให้ภาคการเงินของจีนเองขาดเสถียรภาพ

แม้ “Brexit” ดูน่าจะส่งผลร้ายหลายอย่างให้แก่จีนแต่ก็มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่มองแย้งว่าในระยะยาว Brexit อาจเป็นโอกาสทองของจีน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ใช้กลยุทธ์ซุนวู แบ่งแยกแล้วค่อยจัดการ” กับอียูโดยจีนใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นตัวล่อให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปหันมาแข่งกัน “ญาติดี” กับจีน ทำให้ประเทศสมาชิกอียูแทนที่จะร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อรองกับจีนกลับต่างคนต่างแข่งขันแย่งชิงทุนจีนมาพยุงเศรษฐกิจอันอ่อนแอของประเทศตัวเอง

เมื่ออังกฤษออกจากอียูทำให้เหลือแต่เยอรมันเป็นพี่เบิ้มช่วยเหลือน้องๆ ประเทศยุโรปอื่นๆ ในทางเศรษฐกิจผลก็คือกลุ่มอียูมีแต่จะอ่อนแอลงในระยะสั้นแม้อียูอาจแข็งข้อกับจีนแต่ในระยะยาวอียูย่อมมีอำนาจต่อรองกับจีนลดน้อยลง และย่อมมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงทุนจีนมากขึ้นโอกาสที่จีนจะเดินเกม “แบ่งแยกและเอาชนะ” ได้อย่างถึงลูกถึงคนก็มีมากขึ้น

ตัวอังกฤษเองก็จะมีกำลังต่อรองกับจีนน้อยลง และเมื่ออังกฤษเผชิญปัญหาในการเจรจาสิทธิพิเศษต่างๆ กับทางอียู (เพราะอียูย่อมต้องการเล่นบทโหดเพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ เอาอังกฤษเป็นเยี่ยงอย่าง) อังกฤษเองก็ย่อมมีความต้องการทุนจีนมากขึ้นและจำต้อง “ญาติดี” กับจีนมากขึ้นเช่นกัน

นักวิเคราะห์บางรายมองมุมบวกถึงกับว่า Brexit ย่อมทำให้ทั้งค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรลดความสำคัญลงในเวทีการเงินระหว่างประเทศ และทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องคิดถึงการกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งเก็บทุนสำรองในหลายสกุลเงิน ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นโอกาสทองของเงินหยวนที่จะสร้างความเป็นนานาชาติมากขึ้น

ดังนั้น Brexit จึงดูเหมือนจะเป็นวิกฤติสำหรับจีนในระยะสั้น เพราะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่อาจเป็นโอกาสทองของจีนในระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า การเจรจาระหว่างอังกฤษกับอียูในอนาคตเป็นอย่างไร ความแข็งแกร่งของอียูลดน้อยลงไปเพียงใด และจีนเดินเกมการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ถึงพริกถึงขิงแค่ไหน