ใครคือ“น้องเลิฟ”ของจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ The Belt and Road?

ใครคือ“น้องเลิฟ”ของจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ The Belt and Road?

ด้วยความฝันของจีน Chinese Dream ที่จะผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก

ผู้นำจีนได้ผลักดันยุทธศาสตร์ The Belt and Road มาอย่างต่อเนื่อง หรืออีกคำย่อที่ใช้คุ้นหู คือ One Belt, One Road (อีไต้ อีลู่ ในภาษาจีนกลาง) ซึ่งหมายถึง Silk Road Economic Belt และ Maritime Silk Road ยุทธศาสตร์นี้ของจีนครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

บทพิสูจน์หนึ่งของความสำเร็จในการผลักดันยุทธศาสตร์ The Belt and Road ของจีน ก็คือ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) จนสามารถเริ่มให้บริการทางการเงินแล้วตั้งแต่ต้นปี 2016 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง และตั้งประธานธนาคาร AIIB คนแรกที่เป็นสัญชาติจีน คือ นายจิน ลี่ฉวิน

หากจำกันได้ ครั้งแรกที่ผู้นำจีนริเริ่มเอ่ยชื่อธนาคาร AIIB แห่งนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2013 พร้อมกับการชักชวนเพื่อนอาเซียนให้ร่วมมือกันปลุกฟื้น Maritime Silk Road ในศตวรรษที่ 21 หลังจากนั้น การผลักดันเพื่อตั้งธนาคาร AIIB โดยมีจีนเป็นโต้โผก็ถูกตั้งคำถามและโดนโจมตีจากบางประเทศ โดยเฉพาะการตั้งข้อกังขาว่า จีนจะตั้งธนาคาร AIIB เพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและขยายอิทธิพลของประเทศจีนเอง

มาถึงวันนี้ ธนาคาร AIIB มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 57 ประเทศและไม่จำกัดเฉพาะประเทศในเอเชีย หากแต่มีประเทศชั้นนำจากภูมิภาคอื่นเข้าร่วมด้วย เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ในที่สุดธนาคาร AIIB สามารถก้าวขึ้นเป็นสถาบันการเงินในภูมิภาคแห่งใหม่ขึ้นเทียบชั้นกับ Asian Development Bank (ADB) ที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่น

หลายคนอาจคิดว่า ทั้ง AIIB และ ADB จะเป็นธนาคารคู่แข่งกันอย่างเข้มข้น หากแต่ล่าสุด ธนาคารทั้ง 2 แห่งกลับหันมาร่วมมือกันได้สำเร็จ โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ADB ได้ประกาศที่จะปล่อยกู้ร่วมกับ AIIB ในวงเงินกู้จำนวน 100 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการก่อสร้างถนนในปากีสถาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ธนาคารทั้ง 2 แห่งจะปล่อยกู้ร่วมกัน

ที่น่าสนใจ คือ โครงการปล่อยกู้ร่วมในปากีสถานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ The Belt and Road ของจีนนั่นเอง

ภายใต้กรอบ The Belt and Road ของจีน ได้มีการประกาศความร่วมมือภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจที่จีนร่วมมือแบบทวิภาคีกับปากีสถาน คือ China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) ได้มีความคืบหน้ามากที่สุด รวมไปถึงความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ Central Asia Regional Economic Cooperation (CAREC) ที่มีปากีสถานเข้าร่วมด้วย

เท่าที่ดิฉันเกาะติดพัฒนาการของยุทธศาสตร์ The Belt and Road ของจีน มาตั้งแต่ครั้งที่เรียกกันว่า One Belt, One Road มาจนถึงวันนี้ พบว่า ปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากยุทธศาสตร์นี้ของจีนอย่างชัดเจน และเป็นประเทศแรกที่สามารถขอใช้เงินจากกองทุน Silk Road Fund ที่จีนลงขันตั้งขึ้นในวงเงินมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

นอกจากนี้ ภายใต้ 6 ระเบียงเศรษฐกิจของจีนในกรอบ The Belt and Road มีปากีสถานเพียงประเทศเดียวที่จีนจัดทำระเบียงเศรษฐกิจแบบทวิภาคี (สองต่อสอง) ด้วย นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจ CPEC สำหรับระเบียงเศรษฐกิจอีก 5 แห่ง ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจ China-Mongolia-Russia Economic Corridor ระเบียงเศรษฐกิจ New Eurasian Land Bridge ระเบียงเศรษฐกิจ China-Central Asia-Western Asia Corridor ระเบียงเศรษฐกิจ China-Indochina Peninsula และระเบียงเศรษฐกิจ Bangladesh-China-India-Myanmar Corridor

น่าคิดมั้ยค่ะ ทำไมปากีสถานถึงได้กลายเป็น “น้องเลิฟของจีนและได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ The Belt and Road ของจีนอย่างต่อเนื่อง

หากย้อนพินิจเหตุผลเบื้องลึกในการริเริ่มผลักดันและปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหม Silk Road ของจีนเพื่ออะไร ก็จะพบว่า พื้นที่แกนหลักในใจผู้นำจีนภายใต้แผน The Belt and Road ก็คือ ซินเจียงดินแดนเจ้าปัญหาที่มีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับรัฐบาลกลางจีน ณ โมงยามนี้

ด้วยสารพัดปัญหาด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นในซินเจียง โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายและการเคลื่อนไหวเพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มอุยกูร์หัวรุนแรง จึงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดสำหรับผู้นำจีน

ในเชิงยุทธศาสตร์ นอกจากซินเจียงจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรพลังงานและมีขนาดเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในจีนคิดเป็น 1 ใน 6 ของพื้นที่จีนทั้งหมดแล้ว ยังมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 8 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซ ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน อินเดีย มองโกเลีย และแน่นอน คือ ปากีสถาน

ผู้นำจีนจึงต้องการหยิบยื่นโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาให้กับซินเจียงโดยผ่านยุทธศาสตร์ The Belt and Road และมุ่งเน้นขจัดจุดอ่อนของซินเจียงของการเป็น Land Locked ห่างไกลทะเล (ระยะทางออกสู่ทะเลที่ชายฝั่งของจีนไกลถึง 4,400 กว่ากิโลเมตร) ดังนั้น การผลักดันกรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ CPEC กับปากีสถาน จะทำให้ซินเจียงสามารถออกสู่ทะเลที่ท่าเรือ Gwadar ของปากีสถานด้วยระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร

เพื่อผลักดันความร่วมมือและเชื่อมโยงกับปากีสถาน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปเยือนปากีสถานในเดือนเมษายน 2015 และรัฐบาลของ 2 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันด้วยมูลค่าราว 46,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเชื่อมโยงดินแดนซินเจียงกับปากีสถาน ทั้งทางทะเลผ่านท่าเรือ Gwadar และผ่านเส้นทางรถไฟ รวมทั้งเส้นทางหลวง และสนามบิน Gwadar New Airport ตลอดจนการสร้างท่อขนส่งน้ำมัน และท่อก๊าซธรรมชาติ และระบบสื่อสารผ่านโครงข่าย Optical Fiber Communication ทั้งหมดนี้ ช่วยตอกย้ำว่า ปากีสถาน คือ น้องรักของจีนในเวลานี้

การผลักดันความร่วมมือ CPEC กับปากีสถาน จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ The Belt and Road ที่ถูกใช้มาเชื่อมโยงกับการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาของซินเจียง

ดิฉันได้เดินทางไปลงพื้นที่สำรวจซินเจียงเมื่อกลางปีที่แล้วร่วม 10 วัน และยังได้บินไปสังเกตการณ์ในเมืองคาสือ (Kashi) หรือคัชการ์ (Kashgar) ของซินเจียง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกไกลที่สุดของจีนและมีพรมแดนติดต่อกับปากีสถาน สิ่งที่ได้สัมผัสและพบเห็นด้วยตาตัวเอง ทำให้ต้องยอมรับว่า ซินเจียง คือ ดินแดนมุสลิมอุยกูร์บนแผ่นดินจีนที่ยังรอคอยการพัฒนาให้ทัดเทียมมณฑลชายฝั่งของจีน

ดังนั้น ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพลังงานในซินเจียง รวมไปถึงประเด็นอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง ผู้นำจีนย่อมให้ความสำคัญกับซินเจียงเป็นพิเศษ และผลักดันการพัฒนาซินเจียงโดยผ่านยุทธศาสตร์ The Belt and Road ด้วยการทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่ออัดฉีดกระตุ้นการพัฒนาของซินเจียง จึงทำให้ปากีสถานได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ก่อการร้ายและความไม่สงบในหลายพื้นที่ของซินเจียงยังเป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้ภาคธุรกิจเอกชน ทั้งเอกชนจีนและต่างชาติ ยังคงมีความลังเลและไม่ต้องการเข้าไปขยายการลงทุนในซินเจียง ดินแดนที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงในเวลานี้

โดยสรุป การปลุกฟื้นการพัฒนาและหยิบยื่นโอกาสทางเศรษฐกิจให้ซินเจียงโดยผ่านยุทธศาสตร์ The Belt and Road ของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจ CPEC เพื่อให้ซินเจียงสามารถออกสู่ทะเลโดยผ่านปากีสถาน รวมทั้งการอัดฉีดเงินให้ปากีสถานผ่านกองทุน Silk Road Fund และผ่านการปล่อยกู้ของ AIIB ร่วมกับ ADB ทำให้ปากีสถานตกถังข้าวสารได้รับอานิสงส์มากกว่าใคร

ส่วนงานนี้จะทำให้ประเทศไทยและเพื่อนอาเซียน “ตกกระป๋อง” ในสายตาจีนหรือไม่ ติดตามได้ในบทความของดิฉันต่อไปนะคะ