ความเข้ากันได้ของธุรกิจกับสตาร์ทอัพ

ความเข้ากันได้ของธุรกิจกับสตาร์ทอัพ

ธุรกิจแต่ละอย่าง จะมีลักษณะและวิธีการดำเนินการแตกต่างกันออกไปแม้ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน

ขึ้นอยู่กับว่า ธุรกิจนั้นๆ ดำเนินการโดยสตาร์ทอัพที่มีลักษณะหรือแนวความคิดทางธุรกิจอย่างไร

ความแตกต่างนี้ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการสร้างธุรกิจของสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ก็เพราะ แนวคิดและลูกเล่นในการสร้างธุรกิจ มักจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะ นิสัย ประสบการณ์และแนวคิดของสตาร์ทอัพที่เป็นเจ้าของธุรกิจนั่นเอง

สตาร์ทอัพ หรือผู้ประกอบการเริ่มใหม่ จึงจะหันกลับมาให้ความสนใจในรายละเอียดว่า กิจการของตนจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากธุรกิจของสตาร์ทอัพรายอื่นอย่างไร

และตนเองมีความเข้าใจกลไกต่างๆ ที่จะนำเสนอธุรกิจของตนออกสู่ตลาดอย่างไร

จะต้องรู้ว่า ด้วยเหตุใดหรือลักษณะพิเศษอย่างไร ธุรกิจจึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้อย่างคุ้มค่า และในเวลาที่รวดเร็ว

หากเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอยากทดสอบดูว่า ตนเองรู้จักธุรกิจของตนเองดีหรือไม่ ให้ลองตอบคำถามเหล่านี้ดู

สินค้าหรือบริการหลักที่จะเตรียมออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก จะมีอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร สินค้าหรือบริการเหล่านั้นไปถึงมือลูกค้าได้อย่างไร

หรือพูดง่ายๆ ว่า จะใช้วิธีใดที่จะสร้างยอดขายให้เกิดขึ้นได้คุ้มค่ากับต้นทุนที่ลงไปในการพัฒนาหรือทดลองสร้างต้นแบบสินค้าขึ้นมา

เช่น จะสร้างรายได้ด้วยวิธี ขายตรง ผ่านตัวแทนจำหน่าย มีผู้จัดจำหน่าย ผ่านผู้ขายส่ง ตามวิธีการขายในรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ หรือจะผ่านช่องทางอื่นๆ ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า

และยังอาจที่ต้องคิดต่อไปในเชิงลึกต่อไปว่า วิธีการสำคัญที่ทำให้ผู้ร่วมงาน เช่น ลูกจ้าง พนักงาน ที่จะต้องเข้ามาร่วมงานจะมาจากไหน และจะมีแรงจูงใจอย่างไรให้ผู้ร่วมงานตั้งใจหรือทุ่มเทในการทำงาน จะทำให้ผู้ร่วมงานมีเป้าหมายร่วมกันอย่างไร

ตัวสตาร์ทอัพที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ จะแสดงตัว หรือจะวางบทบาทอย่างไรที่จะทำให้ผู้ร่วมงานได้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน หรือ มีความเข้าใจร่วมกันว่าเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะต้องทำให้สำเร็จ

ในเชิงจิตวิทยาทางธุรกิจ พฤติกรรมของผู้ร่วมงานธุรกิจ มักจะมีแนวโน้มชักจูงใจให้จะทำอะไรที่เหมือนๆ หรือคิดเหมือนๆ กันในเรื่องของการทำงาน แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดเป็นกฎระเบียบไว้ชัดเจน

สิ่งที่ผู้ทำงานที่เดียวกัน เห็นชอบหรือมักจะทำเหมือนๆ กันนี้ ในทางการบริหารจัดการ มักจะเรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร”

สตาร์ทอัพจะคิดสร้าง หรือวางแนวทางให้ “วัฒนธรรมองค์กร” ของตนเองเป็นอย่างไร

สตาร์ทอัพ ในฐานะที่เป็นเจ้าของ จะเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนในการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เจ้าของปฏิบัติ วิธีคิด คำพูดจา หรือการวางตัวที่พนักงานจะพบเห็น จนกระทั่งนำไปเป็นแนวทางที่เห็นคล้อยตามหรือปฏิบัติตาม

นอกจากความเข้ากันได้ในเชิงจิตวิทยาการจัดการธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของผู้ร่วมงานและพนักงาน สตาร์ทอัพ ยังมีเรื่องคิดที่จะต้องทำให้เข้ากันได้ในเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

เช่น ในเรื่องของการเข้ากันได้ของแหล่งได้มาของเงินทุน และการนำเงินทุนที่ได้มาไปใช้เพื่อสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

เริ่มต้นจากการลงทุนที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเริ่มกิจการ เช่น การจัดเตรียม สถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร สถานที่ เครื่องจักร เทคโนโลยี และอุปกรณ์ประกอบการทำงานที่สำคัญ

ความเข้ากันได้ทางกฎหมาย เช่น ธุรกิจที่จะทำ อยู่ภายใต้กฎหมายหรือกฎระเบียบเฉพาะอะไรบ้างหรือไม่ มีความเสี่ยงในการผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบใดหรือไม่

เช่น ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ทำงาน กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตที่ต้องปฏิบัติตาม จะต้องจดทะเบียนอะไรกับหน่วยงานไหนหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น

ความเข้ากันได้ระหว่างเจ้าของสตาร์ทอัพกับวิธีการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ระบบการแบ่งงาน จัดเป็นฝ่ายเป็นแผนกอย่างไรหรือไม่ การแบ่งงานหรือระบบการบังคับบัญชาจะเป็นกิจลักษณะ และสามารถเขียนเป็น ผังองค์กร ได้หรือไม่

หรือบริหารจัดการในสไตล์เถ้าแก่มือใหม่แบบเดิมๆ

รวมถึงระบบการตรวจสอบความถูกต้องในการทำงาน ระบบรั่วไหลต่างๆ ทั้งในด้านการผลิตและการเงินมีอยู่หรือไม่ จะต้องให้มีใครเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้

ในแง่ของการสร้างรายได้ หรือการตลาด ลูกค้าของเราคือใคร มีการแบ่งกลุ่มแบ่งประเภทของลูกค้าหรือไม่ มีการแบ่งตลาดออกเป็นส่วนๆ หรือไม่ หรือมีเพียงตลาดกลุ่มเดียว

จนกระทั่งสามารถตอบได้หรือไม่ว่า ทำไมลูกค้าแต่ละคนจึงมาซื้อสินค้าหรือมาใช้บริการจากเรา

ใครบ้างที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าหรือจะใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราได้ในอนาคตอันใกล้ ในระยะกลาง หรือในระยะยาว

ลูกค้ามีความต้องการหรือความคาดหวังอะไรจากกิจการของเราบ้าง เช่น ต้องการสินค้าตรงเวลา ต้องการสินค้าที่สมบูรณ์ไม่มีของเสียปะปนมา ต้องการความปลอดภัยในการใช้งาน ต้องการส่วนลด ต้องการได้เครดิต

หรือต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว ต้องการบริการหลังการขายที่ดี เป็นต้น

กิจการต้องพึ่งพาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนใดเป็นพิเศษหรือไม่

การสร้างธุรกิจ จะต้องมีการติดต่อสื่อสารหรือสร้างสัมพันธไมตรีเป็นพิเศษกับผู้ที่มีความสำคัญต่อกิจการอย่างใดหรือไม่ โดยเฉพาะการสื่อสารแบบ 2 ทาง คือมีการติดต่อกลับไปกลับมา เช่น การพบปะกัน การประชุมร่วมกัน การโทรศัพท์หรือการติดต่อแบบทางเดียว เช่น ผ่านเว็ปไซต์ หรือ การส่งอีเมล หรือส่งแผ่นพับทางไปรษณีย์

หากสตาร์ทอัพ จะฝึกถามตัวเองบ่อยๆ ในคำถามเหล่านี้ก็จะทำให้มองเห็นภาพของกิจการของตนเองและเส้นทางการเติบโตของธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น

และยังเป็นแบบฝึกหัดลับความคมในการเอาชนะคู่แข่งเดิมที่เล่นอยู่ในตลาดได้อีกด้วย

ไม่ใช่หวังสร้างธุรกิจได้ด้วยความชอบหรือความสนใจเป็นการส่วนตัวเท่านั้น