องค์กรแห่งการเรียนรู้

องค์กรแห่งการเรียนรู้

ที่มาของบทความในสัปดาห์นี้ ต้องขอขอบพระคุณ คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบริหารการศึกษาที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคน

คุณพารณ ได้นำแนวคิดของการสร้างสรรค์ปัญญาขึ้นในตัวคนจากการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีรากฐานมาจากงานวิจัยที่สถาบัน MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มาเจริญเติบโตในเมืองไทยด้วยการประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ด้วยการมองเห็นการณ์ไกลของ คุณพารณ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ MIT

เครื่องมือการพัฒนาการเรียนรู้ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “Constructionism” ซึ่งได้รับการถอดความเป็นภาษาไทย โดย ฯพณฯ เชาวน์ ณ ศีลวันต์ ที่ทำให้เห็นภาพในมุมกว้างของ Constructionism ว่า เป็น เครื่องมือสำหรับ “การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ปัญญาที่เป็นของตัวเอง”

พูดง่ายๆ ก็คือ เครื่องมือที่จะทำให้บุคคลสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาใช้ประกอบก็คือ “การอยากรู้” และมีกิจกรรมที่สามารถจับต้องได้ด้วยตัวเองเพื่อค้นหาความตอบของการอยากรู้นั้นๆ และมีผู้สนับสนุนให้ผู้เรียนรู้ สามารถ “เข้าถึง” องค์ความรู้ในเรื่องที่อยากรู้

ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด จะมีธรรมชาติในตัวของมันเองที่ถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ในวิชานั้นๆ

บุคคลจะสามารถเข้าใจถึงองค์ความรู้ในวิชาที่มีความสนใจได้ หากได้สัมผัสในเรื่องนั้นๆ ด้วยความสนุก ไม่เบื่อหน่าย

ผู้เรียนรู้ สร้างความรู้ขึ้นได้โดยการได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัตินั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางธรรมชาติ หรือทางสังคม ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการให้ความรู้โดยครูที่ยืนสอนอยู่หน้ากระดานดำ

กระบวนการ Constructionism หรือ การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ปัญญาที่เป็นของตัวเอง จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้ได้ลงมือ คิด ทำ และปฏิบัติด้วยตัวเอง ผ่านวงจรของ การคิด ลงมือปฏิบัติ ทบทวน และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เมื่อสามารถหมุนเวียนกันขึ้นเป็นวงจรที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่จะสะสมกลายมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นให้กับผู้ที่ได้ฝึกฝนตัวเองให้คุ้นเคยกับวงจร

เนื่องจาก ความรู้เดิมที่มีอยู่ บวกกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนรู้อย่างไม่รู้ตัว

คุณพารณ ได้เผยแพร่แนวคิดของ Constructionism เพื่อทำให้คนไทยได้สร้างสมปัญญาขึ้นได้ด้วยตัวเองไปตลอดชีวิต และได้ทดลองด้วยตัวเองนำไปใช้จริงในองค์กรธุรกิจ องค์กรการศึกษา และองค์กรชุมชน

จนสามารถสร้างเครือข่ายของผู้ที่มีความสนใจในแนวทางนี้ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และได้มีการจัดเวทีที่ทำให้เครือข่ายเหล่านี้ได้มาพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จ และอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยมี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เป็นเจ้าภาพและเอื้อเฟื้อให้สถานที่ เมื่อเร็วๆ นี้

เป็นการรวมตัวของ 3 เครือข่ายหลักที่นำแนวคิด Constructionism ไปสร้างสรรค์ปัญญาให้เกิดขึ้นกับบุคลากรในองค์กรของตนเอง

เครือข่ายภาคธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มบริษัทในเครือ SCG หรือ ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งนำแนวคิด Constructionism มาใช้ในการพัฒนาผู้บริหารและพนักงานในเครือมามากว่า 10 ปี โดยเห็นผลปรากฏที่เป็นกิจจะลักษณะอย่างชัดเจนต่อการสร้างความเติบโตและมั่นคงให้กับธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ไทยคม กลุ่มมิตรผล กลุ่มเบทาโกร รวมถึง โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ ซึ่งเป็นธุรกิจภาคบริการ ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ Constructionism ในการพัฒนาบุคคลากรให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้จนเกิดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหน้าที่การงานประจำได้ด้วยตัวเอง

และสามารถเผื่อแผ่ไปยังเพื่อร่วมงานเพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร

ลดความขัดแย้งหรือรอยต่อที่มักเกิดการสะดุดในการส่งต่องานไปยังแผนกอื่นๆ ซึ่งมักพบเป็นประจำในองค์กรธุรกิจ

เครือข่ายภาคการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนที่มีแนวคิดในการเรียนการสอนสมัยใหม่ ผ่านการประยุกต์ใช้ Constructionism โดยให้นักเรียนเรียนรู้และเข้าใจหลักสำคัญหรือทฤษฎีด้วยการลงมือสร้างโครงงานด้วยตัวเอง

นำขบวนโดย ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนในระบบทางเลือก ที่พัฒนา “ผู้เรียนรู้” (ไม่ใช่ “นักเรียน”) ด้วยแนวคิด Constructionism เป็นแห่งแรก วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ที่พัฒนานักเรียนอาชีวะป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยผลผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ

รวมถึง โรงเรียนบ้านสันกำแพง เชียงใหม่ โรงเรียนวัดเขียนเขต นนทบุรี ที่ได้นำ Constructionism ไปใช้ในรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ กลุ่มโรงเรียนจากอำเภอเกาะยาว นครศรีธรรมราช ครูอุทัย แห่งโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา เชียงราย ผู้ใช้แนวคิด Constructionism เพื่อพัฒนานักเรียนรู้รุ่นเยาว์ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนมากที่สุด ผ่านสโลแกนที่ติดไว้หน้าชั้นเรียนว่า “ครุต้องทำตัวให้โง่ เพื่อให้เด็กฉลาด”

เครือข่ายสุดท้าย ได้แก่เครือข่ายภาคชุมชน โดยผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านสามขา ลำปาง และหมู่บ้านลิ่มทอง บุรีรัมย์ ที่ประสบความสำเร็จในการทำให้สมาชิกในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย “ปัญญา” ที่ทำให้สามารถขจัดปัญหาความยากลำบากในความเป็นอยู่ การเป็นหนี้สิน และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จนชุมชนสามารถกลับมามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เรื่องราวของประสบการณ์และความสำเร็จเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นจากความใฝ่รู้ในตัวเอง จะทำให้สามารถเกิด “ปัญญา” ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน