ด้านสำเร็จและล้มเหลว เมื่อขีดแข่งขันไทยดีขึ้น

ด้านสำเร็จและล้มเหลว เมื่อขีดแข่งขันไทยดีขึ้น

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน

จาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ขีดความสามารถโดยภาพรวมของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนด้วย ที่อันดับขยับลงกันถ้วนหน้า โดยไทยยังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย 

หากแยกแยะเป็นหัวข้อจะเห็นได้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัด หากดูจากดัชนีชี้วัดสำคัญ คือ อัตราการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติที่แท้จริง(real GDP Growth) ดุลการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าตัวชี้วัดเหล่านี้อยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ตัวชี้วัดของไทยสามารถทรงตัว หรือปรับตัวดีขึ้นได้ สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ย่ำแย่มากนัก 

ในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐที่เคยเป็นปัญหามาโดยตลอด ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งในด้านกฎหมายทางธุรกิจ ด้านฐานะด้านการคลัง ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล รวมถึงนโยบายรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการตัดสินใจของรัฐบาล ยกเว้นเพียงเรื่องขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจเท่านั้นที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการแก้ไขในประเด็นนี้ แต่ก็ถือว่าประสิทธิภาพโดยรวมของภาครัฐปรับตัวดีขึ้น จากอันดับที่ 27 ปีที่ผ่าน ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 23

ในส่วนของประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ได้ปรับลดลงจาก 24 เป็น 25 โดยผลิตภาพและประสิทธิภาพขยับขึ้น แต่ด้านผลิตภาพแรงงานของไทยถือว่ามีปัญหาต้องดำเนินการปรับปรุงอีกมาก แต่หากย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของภาคธุรกิจยังไม่กระเตื้องดีขึ้นมากนักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายปี ได้ส่งผลกระทบภาคธุรกิจหลายด้าน  และหลายอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงการปรับตัว

แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาคือการชี้วัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ปรับลดลงจากอันดับที่ 46 ไปอยู่ที่ 49 โดยโครงการสร้างพื้นฐานที่ใช้เป็นตัวชี้วัด ไม่เพียงเรื่องด้านคมนาคมเท่านั้น แต่รวมถึงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่าย่ำแย่อย่างมาก โดยอยู่ที่อันดับ 52 จากทั้งหมด 61 ประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าเรามีปัญหาด้านนี้ค่อนข้างมากและจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุด

จากการพิจารณาแยกตัวชี้วัดข้างต้น สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมในขณะนี้หากเราจะใช้ตัวชี้วัดพิจารณา กล่าวคือ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ ดังจะเห็นได้จากตัวชี้วัดเหล่านี้อยู่ในระดับกลางๆ แต่ที่เป็นปัญหาคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและการศึกษาที่ยังเป็นปัญหาอยู่มาก โดยปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีปัญหาจริงๆและพยายามแก้ไขมานาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

อันที่จริง ประเด็นเรื่องการมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยต้องแลกมากับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เสื่อมโทรมนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับกันมานาน ดังจะเห็นได้จากแผนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็พยายามเน้นให้หันมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่การจัดอันดับในครั้งนี้กลับสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมานั้น เรามีปัญหาในเรื่องนี้และยังไม่มีอะไรที่คืบหน้ามากนัก ดังที่เราประสบพบเห็นกันแทบทุกวัน เราเห็นว่าการจัดอันดับประเทศในครั้งนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นความสำเร็จที่อันดับขยับขึ้น แต่หากดูด้านในก็จะเห็นด้านที่ล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาแก้ปัญหาอย่างจริง