การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับอาเซียน (2)

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับอาเซียน (2)

ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะนำเสนอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ

ให้ตรงกันก่อนว่า ตัวเลขที่จะนำเสนอนี้ เป็นข้อมูลจากการประมาณการด้วยวิธีที่แตกต่างจากที่ใช้ในรายงานแห่งชาติของแต่ละประเทศ ที่นำส่ง UNFCCC การที่ผมไม่นำข้อมูลทางการมาใช้เพราะด้วยเหตุผลหลัก คือ ข้อมูลที่แต่ละประเทศนำส่ง UNFCC นั้น เปรียบเทียบกันยากเนื่องจาก ปีฐานที่คำนวณแตกต่างกัน ข้อมูลมีข้อจำกัดคือ บางประเทศนำส่งข้อมูลแค่ครั้งเดียวเมื่อนานมาแล้ว (ปี 1994) บางประเทศส่งไปแล้ว 2 ครั้ง (ล่าสุดประมาณปี 2000) ดังนั้นข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงไม่ค่อยเป็นปัจจุบัน ผมจึงใช้ข้อมูลจากการวิจัยอิสระ ซึ่งจะทำให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจที่แตกต่างจากข้อมูลที่เป็นทางการ รายละเอียดของข้อมูลสามารถหาดูในเว็บ http://cait.wri.org

ข้อมูลที่ในปีล่าสุดที่แต่ละประเทศนำส่ง UNFCC คือปี 2000 ซึ่งในประเทศอาเซียนนี้เมื่อดูจากปริมาณการปล่อย อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด รองลงมาคือ ไทย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยโดยอินโดนีเซียแล้วถือว่า น้อยกว่าหลายเท่าตัว ส่วนประเทศมาเลเซีย ในปี 2000 มีการปล่อยติดลบ (การปล่อยน้อยกว่าการดูดกลับ)

ในระหว่างปี 2008-2012 ประเทศในอาเซียนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียที่ปล่อยมากกว่าไทยเสียอีก แต่อินโดนีเซียก็ยังครองแชมป์การปล่อยเหมือนเดิม

จากข้อมูลตามรายภาคเศรษฐกิจ สามารถจำแนกประเทศในอาเซียนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกปล่อยออกมาจากภาคพลังงานเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด ซึ่งได้แก่ประเทศไทย (70%) สิงคโปร์ (90%) เวียดนาม (66%) ฟิลิปปินส์ (54%) และมาเลเซีย (51%) อีกกลุ่มคือประเทศที่มีแหล่งปล่อยมาจากภาคการใช้ที่ดินและป่าไม้ ซึ่งได้แก่ประเทศลาว ที่มีสัดส่วนจากภาคการใช้ที่ดินและป่าไม้สูงถึง 70% อินโดนีเซีย (62%) และประเทศเมียนมาร์ (46%) ประเทศมาเลเซียก็มีสัดส่วนการปล่อยค่อนข้างสูงจากภาคการใช้ที่ดินและป่าไม้เช่นกัน (33%)

ส่วนภาคเกษตร ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอาเซียน แต่ถือว่ามีสัดส่วนการปล่อยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก (ประมาณ 14%) โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาร์ และกัมพูชาที่ภาคเกษตรมีสัดส่วนถึง 36-38% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งประเทศ ส่วนประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรใกล้เคียงกันคือ 20-25% ของการปล่อยรวม

จากปริมาณการปล่อย เรามาดูปริมาณที่แต่ละประเทศตั้งใจที่จะลดกันบ้าง ตัวเลขที่นำมาให้ดูนี้ มาจากฐานข้อมูลของ UNFCCC ที่แต่ละประเทศนำเสนอตัวเลขเป้ามาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไก Intended Nationally Determined Contributions (INDCs)(http://unfccc.int/focus/indc_portal/items/8766.php) ซึ่งเป็นกลไกที่ให้แต่ละประเทศนำเสนอเป้าที่เหมาะสมกับบริบทประเทศตัวเอง ซึ่งแตกต่างกับกลไกในอดีตที่ UNFCCC เป็นผู้กำหนดตัวเลขเป็นส่วนใหญ่

ในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่รวมทั้งไทย ได้นำส่งตัวเลขเป้าหมายการลดกันหมดแล้ว ซึ่งตัวเลขที่นำเสนอ ส่วนมากเป็นตัวเลขที่เป็นช่วง เช่น 20-25% จากกรณีฐาน สำหรับประเทศไทย โดยตัวเลขตัวแรก (20%) เป็นผลการดำเนินการเองภายในและอีกตัวเลข (25%) เป็นความตั้งใจของไทยที่ดำเนินการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อมีการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จากต่างประเทศ ส่วนการอ้างอิงว่าลดลงจากฐานอะไร ก็แตกต่างกันไป เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเส้นอ้างอิงกรณีฐาน หรือ BAU (ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์) การลดการปล่อยในมุมของ emission intensity (มาเลเซีย) และการลดการปล่อยจากปีใดปีหนึ่ง (สิงคโปร์)

ภาพโดยรวม การปล่อยจากประเทศอาเซียนต่อการปล่อยทั้งโลกถือว่าน้อยมาก แต่ถ้ามองเฉพาะบางภาคเศรษฐกิจ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ อินโดนีเซียถือว่าปล่อยออกมาเป็นปริมาณมากลำดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว เป้าหมายและการเน้นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือกระจกจากแหล่งใด จึงแตกต่างไปตามบริบทของแต่ละประเทศ

--------------------

รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง

ผู้ประสานงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย