ปฏิรูปประเทศผ่าน'ประชารัฐ' อย่าเป็นแค่อุดมคติ

ปฏิรูปประเทศผ่าน'ประชารัฐ' อย่าเป็นแค่อุดมคติ

หลังรัฐบาลมีแนวคิด จะดึงคนทุกภาคส่วนของประเทศ

 (Stakeholders) ได้แก่ รัฐ เอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน มาร่วมกัน ปฏิรูปประเทศ ในด้านต่างๆ ในนาม ประชารัฐ  ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วง 2 ปีหลังรัฐประหาร และในระยะถัดไป นอกเหนือจากการสร้างความสงบเรียบร้อยในประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านกุนซือเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ขาของการสร้างความสงบเรียบร้อยของคนในชาติ แน่นอนรัฐบาลชุดนี้ทำได้ดี โดยเฉพาะการลดดีกรี ความขัดแย้ง ของคนในชาติผ่านเวทีสาธารณะหรือการชุมนุมต่างๆที่บางตา 

ขณะที่ขาของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็กำลังไปได้สวย จากแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจน ยึดประชาชนฐานรากเป็นตัวตั้ง ผ่านการอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นต้น 

ตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมหลายแสนล้านบาท เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ทำให้เงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายทอด 

ระยะถัดจากนี้ รัฐยังจะเร่งเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เมกะโปรเจค) รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ปัญหาความไม่ลงตัวในการลงทุน ดูเหมือนจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง จากแผนลงทุนที่ปรากฎเป็นข่าว ทำให้ภาคธุรกิจพูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างมีความหวังว่า 

ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก

เรียกว่า สามารถ ดึงความเชื่อมั่น นักธุรกิจกลับมาได้ระดับหนึ่ง

ทว่า สำหรับขาของการ “ปฏิรูปประเทศ”  ผ่าน 12 คณะทำงานเคลื่อนประชารัฐ อยู่ระหว่าง “ตั้งไข่” บางคณะขับเคลื่อนงานรวดเร็ว บางคณะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจเป็นเพราะการปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้ต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายภาคส่วนดังกล่าว การจะยึดเสียงเป็นเอกฉันท์ย่อมต้องใช้เวลา

บางคณะทำงานยัง เจอตอ หรืออุปสรรคที่เป็นเหมือน “บทเรียน” ให้คณะทำงานชุดอื่น ดูไว้เป็น “อุทธาหรณ์” ของการปฏิรูปประเทศ ที่ส่วนหนึ่งถูกเคลื่อนด้วยภาคเอกชน แม้จะเป็นเรื่องดี เนื่องจากภาคเอกชนรายใหญ่ มาพร้อมกับประสบการณ์ และสายสัมพันธ์ ทำให้พบ “ทางลัด” ในการปฏิรูปให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก 

ทว่า จุดอ่อนของภาคเอกชน คือ การถูกสังคมจับตาถึง ความโปร่งใส่ในการดำเนินงาน

อย่างที่เกิดขึ้นกับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ที่มี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน ที่เร่งขับเคลื่อนธุรกิจฐานราก ด้วยการตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (เอสอี โฮลดิ้งส์)  เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม แต่สุดท้ายถูกกังขาถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัท จน “เจ้าสัวน้อย” ต้องออกมาชี้แจงความโปร่งใสพัลวัน ว่าที่สุดชุมชนจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนี้ แม้จะไม่ปฏิเสธว่าในระยะแรกเริ่มเอกชนจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก แต่เป็นไปเพราะต้องการให้โครงการเดินหน้าโดยเร็ว

เจตนาดี ความโปร่งใส ในการทำงาน  อาจจำเป็นต้องมี “กลไกการตรวจสอบ” การทำงานที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

ปกป้องทั้งคนทำงาน ไปพร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม

ทำให้ประชารัฐนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ไม่เป็นเพียง อุดมคติ