มองคนสูงวัยในแง่บวก

มองคนสูงวัยในแง่บวก

เราเห็นการเจริญเติบโตของเด็กได้ชัด เราจึงมักเข้าใจผิดว่า พอเข้าวัยผู้ใหญ่แล้วคนเราถึงจุดสูงสุดแล้วไม่ได้เติบโต

ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจแล้ว มีแต่จะเสื่อมถอยลงตามลำดับ ความรู้ใหม่จากงานวิจัยพบว่า แม้ร่างกายผู้ใหญ่และผู้สูงวัยจะเปลี่ยนไปในทางขาลง แต่พวกเขายังคงมีพัฒนาการทางด้านจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง

มนุษย์ยุคปัจจุบันอายุยืนขึ้น ประชากรวัย 60-80 ปีหรือสูงกว่านั้น กำลังเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและสัดส่วนมากกว่ายุคใดๆ เนื่องจากมนุษย์ส่วนใหญ่ ยกเว้นคนยากจนที่สุดในประเทศยากจนที่สุดได้พัฒนาเรื่องอาหารการกิน การดูแลสุขภาพได้ดีขึ้นกว่าในยุคก่อนหน้านั้น

การที่รัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายควบคุมการเพิ่มประชากร มุ่งพัฒนาสังคมเมืองในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้คนแต่งงานช้าลงและนิยมมีลูกน้อยคนลง (เทียบกับยุคสังคมเกษตรกรรมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท) ทำให้ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานในหลายประเทศมีสัดส่วนลดลงเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมด คนสูงวัยจึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าในยุคก่อน จะเห็นได้ชัดในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศรายได้ปานกลางรวมทั้งไทยด้วย

คนส่วนใหญ่ในสังคมชอบมองว่าวัยหลังเกษียณจากการทำงาน (เช่น 60-65 ปี) ไปแล้ว คือวัยขาลงของคนที่ทั้งสังขาร ทั้งสติปัญญาความคิดอ่านร่วงโรย เป็นวัยที่ใช้ชีวิตไปวันๆ เพียงเพื่อรอวันสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น นี่คือความรู้จากสมัยก่อน ที่การสาธารณสุขและโภชนาการไม่ค่อยพัฒนา คนส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยไม่ยืนยาวมากนัก เช่น อาจจะสัก 70 ปี แต่ในสมัยปัจจุบัน คนที่อายุยืนถึง 80-90 ปีมีเพิ่มขึ้น รวมทั้งบางคนมีอายุถึงร้อยปีขึ้นไปก็มี โดยพวกเขาส่วนที่ดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจได้ดี ยังดำรงชีพอยู่ได้เป็นปกติหรือเกือบปกติ โดยมีคนช่วยเหลือบ้าง แม้พวกเขาจะอ่อนแอลง ทำอะไรได้ช้าลง มีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวเพิ่มขึ้นกว่าตอนอายุน้อยกว่านี้ก็ตาม

ข้อมูลใหม่นี้หมายถึงว่า หลังจากเกษียณการทำงานในวัย 60-65 ปีไปแล้ว คนสูงวัยที่อายุยืนต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก 20-30 ปีหรือมากกว่านั้น ความจริงในข้อนี้ทำให้วงการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจิตวิทยาสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องพัฒนาการของคนสูงวัยเพิ่มขึ้น

การศึกษาค้นคว้าเรื่องพัฒนาการคนสูงวัย ได้ค้นพบความรู้ใหม่ที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น

1) คนเราชะลอความแก่ในทางชีววิทยา (คือร่างกายจิตใจถดถอยลง) ให้ช้าลงได้ระดับหนึ่ง ถ้าคนๆ นั้น มีพันธุกรรมที่ดีและการรักษาดูแลสุขภาพทั้งกายและใจได้ดี นั่นก็คือคนสูงวัยตามปีปฏิทินบางคนที่ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง มีอายุทางชีววิทยาน้อยกว่าอายุตามปีปฏิทินได้

2) สมองไม่ได้เสื่อมถอยลงทั้งหมด เซลล์เส้นประสาทในสมองบางเซลล์หด บางเซลล์เพิ่มได้ แล้วแต่พันธุกรรมและการใช้งานของสมองของแต่ละคน คนสูงวัยยังคงเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ถ้าเขาเป็นคนสนใจฝึกฝนการใช้สมองสม่ำเสมอ แม้ว่าคนสูงวัยจะเรียนรู้บางอย่างได้ช้า หรือต้องใช้วิธีการสอนการเรียนรู้ที่ต่างจากคนวัยเยาว์กว่า แต่คนสูงวัยก็มีข้อเด่นคือ การมีประสบการณ์ มีความทรงจำในระยะยาว การมองปัญหาอย่างเชื่อมโยง อย่างกว้างขวางรอบคอบ ทำให้คนสูงวัยเรียนรู้หรือตัดสินใจในบางเรื่องได้ดีกว่าคนอายุน้อยกว่า

3) คนสูงวัยที่มีสุขภาพจิตที่ดีมาแต่ต้น หรือได้พัฒนาให้เป็นคนที่มีวุฒิภาวะขึ้นในภายหลัง เช่น เป็นคนมองโลกในแง่บวกหรือในแง่ดีอย่างสมจริง อย่างสมดุล มีความรู้สึกขอบคุณในสิ่งต่างๆ ที่ตนเป็นอยู่หรือมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นคนที่ใจกว้าง มองผู้อื่นในแง่ดี ช่วยเหลือเจือจานแบ่งปันผู้อื่น เป็นคนที่สามารถดำรงชีวิตที่มีสุขภาวะได้มากกว่าคนสูงวัยที่มีลักษณะตรงกันข้าม

4) สังขารของคนสูงวัยเสื่อมถอยจริง แต่สำหรับคนสูงวัยบางคนที่มีโรคภัยแบบเรื้อรังที่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นจะเสียชีวิตได้ ถ้าเขามีสุขภาพจิตที่ดี มีความคิดทัศนคติในทางบวก มองคนและโลกในแง่ดี ยอมรับข้อจำกัดของตนเองโดยไม่เครียดวิตกกังวล เขาก็จะยังคงเป็นคนสูงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะได้

ปัจจุบันมีหนังสือและบทความภาษาอังกฤษที่เสนอความรู้ทั้งด้านจิตวิทยาและด้านสังคมของการเป็นผู้ใหญ่และสูงวัย และการรักษาสุขภาพของผู้สูงวัย หรือการมุ่งสร้างอายุยืนจำนวนมาก หนังสือแนวหลังนี้ที่เป็นเรื่องที่เน้นไปทางการแพทย์ และมีงานเขียนงานแปลเป็นภาษาไทยออกมาบ้างแล้ว ขณะที่หนังสือด้านจิตวิทยา สังคมวิทยาของผู้ใหญ่และการสูงวัยยังไม่พบ ผมได้สรุปแปลเรียบเรียงนำมาเขียนใหม่ขึ้นเล่มหนึ่งเรื่อง จิตวิทยาการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ รอให้สำนักพิมพ์หมอชาวบ้านพิมพ์เป็นเล่มอยู่

ผมสนใจหนังสือแนวสูงวัยอย่างมีสุขภาวะมากกว่าทำอย่างไรจึงจะอายุยืน เพราะมีความเห็นแบบชาวพุทธว่า คนเราจะอายุยืนได้มากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับว่าเราควรจะใช้ชีวิตช่วงท้ายให้ดีที่สุด ทั้งสำหรับตัวเราเองและสังคมได้อย่างไรมากกว่า

ความรู้เรื่องการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ, การสูงวัยในทางบวก, การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ เป็นหัวข้อที่เราควรช่วยกันศึกษา ค้นคว้า เผยแพร่ต่อ เพราะสังคมไทยกำลังจะมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า ความรู้ในหัวข้อนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้สูงวัย และต่อคนทุกวัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยที่จะได้มีความรู้และเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะในที่สุดแล้วผู้อ่านบทความนี้ก็จะต้องสูงวัยด้วยกันทุกคน และไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ เป็นผู้สูงวัย ดังนั้นการได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาของผู้สูงวัยและใช้ความรู้นี้ไปเผยแพร่และปฏิบัติต่อพ่อแม่ ญาติผู้สูงอายุ จะช่วยให้สมาชิกทุกคนและสังคมได้เจริญก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และอย่างสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น