มาตรการอียูป้องกันบรรษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษี กระทบการค้า-ลงทุน

มาตรการอียูป้องกันบรรษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษี กระทบการค้า-ลงทุน

เมื่อฉบับที่ผ่านมาทีมงานได้รายงานความคืบหน้าการเสนอมาตรการ Anti-Tax Avoidance Package

 ของคณะกรรมาธิการยุโรปรวมทั้งพัฒนาการของร่างข้อบังคับ Accounting Directive ที่กำหนดให้บรรษัทข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในอียูต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลภาษีต่อสาธารณะ ซึ่งการออกมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาระภาษีของอียูในครั้งนี้ สะท้อนถึงความพยายามในการจัดการระบบเรียกเก็บภาษีในอียูและการให้สิทธิประโยชน์กับบรรษัทข้ามชาติในประเทศสมาชิกให้มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะธุรกิจที่มีสาขาการผลิตหรือบริการในอียูและอาจส่งผลต่อเนื่องถึงการขยายห่วงโซ่ธุรกิจในประเทศไทยด้วย

ปัจจุบันไทยไม่ใช่ประเทศที่รับเงินลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในอียูจะมีลักษณะเป็นบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations) และอาจกระทำการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่นการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่หรือการจัดตั้งบริษัทลูก (subsidiaries) และหรือตั้งสำนักงานสาขา (branches) ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูมากขึ้นอย่างชัดเจนจาก 4,926 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 6,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการลงทุนจากไทยสูงที่สุดโดยมีมูลค่าถึง 2,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการจะเลือกลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง คือ นโยบายของรัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่บรรษัทข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นบรรษัทข้ามชาติที่มีที่ตั้งในหลายประเทศจึงอาศัยการวางแผนด้านภาษี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเช่นการกำหนดราคาสินค้าและบริการของธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยธุรกิจ (Transfer Pricing) ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อกระจายภาระทางภาษีของบรรษัทข้ามชาติไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า การเลือกลงทุนในประเทศปลอดภาษี (Tax Haven) รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนของประเทศต่างๆ (Treaty Shopping) โดยการตั้งบริษัทในเครือในประเทศที่สามที่มีความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน

ข้อเสนอ Anti-Tax Avoidance ของคณะกรรมาธิการยุโรปจึงเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติด้านภาษีที่เข้มงวดและมีความสอดคล้องกันภายในประเทศสมาชิกอียูมากขึ้น เพื่อป้องกันการหาช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลีกเลี่ยงภาระทางภาษีของบรรษัทข้ามชาติที่มักจะหาผลประโยชน์จากการมีบริษัทในเครืออยู่ในหลายประเทศทั้งในและนอกอียู โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญของข้อเสนอดังกล่าวคือ ร่างข้อบังคับ Anti-Tax Avoidance Directive ที่กำหนดมาตรการด้านภาษีเพื่อป้องกันการวางแผนภาษีในลักษณะข้างต้น โดยร่างข้อบังคับฉบับนี้ประกอบด้วย 6 มาตรการสำคัญคือ

(1) Switch-Over Rule กำหนดให้บรรษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในอียูต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระภาษีของเงินปันผลที่ได้รับจัดสรรจากบริษัทในเครือที่มีถิ่นที่อยู่นอกอียู ซึ่งโดยมากจะตั้งอยู่ในประเทศปลอดภาษี ซึ่งหากพบว่า บริษัทในเครือชำระภาษีต่ำกว่าร้อยละ 40 ของอัตราภาษีในประเทศสมาชิกอียูที่บรรษัทข้ามชาตินั้นจดทะเบียน อียูสามารถบังคับให้บรรษัทชำระภาษีของเงินปันผลที่ได้รับจัดสรรจากบริษัทในเครือได้ แม้ตามปกติ เงินปันผลที่บริษัทในเครือจ่ายให้บริษัทแม่จะได้รับการยกเว้นภาษีภายในอียู

(2) Interest Limitation กำหนดอัตราการจ่ายดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่โอนจากบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในอียูไปยังบริษัทที่เป็นผู้จัดสรรเงินกู้นอกอียู เพื่อป้องกันการเพิ่มค่าใช้จ่ายและหลบเลี่ยงรายได้ที่แท้จริงของบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในอียูเพื่อหลบเลี่ยงภาระทางภาษี

(3) Exit Taxation กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยรายละเอียดทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีซึ่งรวมถึงลิขสิทธิ์ของทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีโดยการเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ไปยังประเทศที่เป็นประเทศปลอดภาษี

(4) Controlled Foreign Companies กำหนดให้สามารถเรียกเก็บภาษีจากกำไรของบรรษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในอียูหากพบว่า บริษัทในเครือที่มีถิ่นที่อยู่นอกเขตอียูชำระภาษีต่ำกว่าร้อยละ 40 ของอัตราภาษีในประเทศสมาชิกอียูที่บรรษัทจดทะเบียน

(5) Hybrid Mismatch กำหนดให้ประเทศสมาชิกอียูที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินใช้แนวปฏิบัติเดียวกัน เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาระภาษีในรูปแบบของการใช้ตราสารทางการเงินที่มีคุณสมบัติของตราสารหนี้ และตราสารทุน ผสมกัน เช่น เงินกู้ที่มีการแบ่งผลกำไร (profit sharing loan) เพื่อแสวงหาประโยชน์จากช่องว่างของแนวปฏิบัติที่ต่างกันในแต่ละประเทศ ดังจะเห็นได้จากคดีของ FedEx Corp. ในลักเซมเบิร์กที่มีการใช้ตราสารทางการเงินลูกผสมโดยทำให้ตราสารมีลักษณะเป็นตราสารหนี้ในประเทศที่เป็นแหล่งเงินได้เพื่อใช้ดอกเบี้ยในการลดหย่อนภาษีและทำให้เป็นตราสารทุนในประเทศผู้รับเพื่อให้ถือเป็นเงินปันผลซึ่งได้รับยกเว้นภาษี

(6) General Anti-abuse Rule เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีในรูปแบบอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินจากการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่มีบริษัทสาขาการผลิตหรือบริการในอียูจะได้รับผลกระทบโดยตรงในรูปของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขัน หากบริษัทมีแนวปฏิบัติด้านภาษีหรือรูปแบบการวางแผนภาษีบางประเภทที่ขัดกับกฎระเบียบด้านภาษีในอียู เนื่องจากบริษัทจะต้องเผชิญกับภาระภาษีที่มากขึ้น ซึ่งภาระภาษีดังกล่าวก็จะทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าสมาชิกอียูบางประเทศจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติในรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีก็ตาม ผู้ประกอบการไทยก็จะต้องระมัดระวังด้วยว่ามาตรการเหล่านั้นอาจขัดกับกฎระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ ด้านภาษีของอียู โดยจะเห็นได้จากกรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรปชี้ว่า รัฐบาลเบลเยียมกระทำความผิดในการใช้การคำนวณกำไรส่วนเกิน (Excess Profit) เพื่อลดภาระทางภาษีให้บรรษัทข้ามชาติจำนวน 35 ราย โดยรัฐบาลเบลเยียมจะต้องเรียกคืนภาษีจากบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 700 ล้านยูโร (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่)

อีกมาตรการสำคัญของข้อเสนอ Anti-Tax Avoidance Package คือการแจกแจงรายรายละเอียดข้อมูลภาษีของบรรษัทข้ามชาติที่มีสถานประกอบการหรือธุรกิจในเครือที่จดทะเบียนในอียูในรูปแบบการรายงานรายประเทศ (Country-by-Country Reporting-CbCR) เพื่อยกระดับความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจภายในอียู โดยประกอบด้วย (1) ร่างข้อบังคับ Revised Administrative Cooperation Directive ซึ่งกำหนดให้บรรษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในอียูและมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโร ยื่นรายงานผลประกอบการของบรรษัทข้ามชาติและบริษัทในเครือ ภายใน 12 เดือนหลังจากได้รายงานผลประกอบการประจำปีของบรรษัท และ (2) ร่างข้อบังคับAccounting Directiveกำหนดให้สำนักงานใหญ่บริษัทในเครือหรือสำนักงานสาขาของบรรษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในอียูและมีผลประกอบการมากกว่า 750 ล้านยูโรต้องเปิดเผยรายงานด้านภาษีทั้งในอียูและในประเทศอื่นๆ ที่บริษัทดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้สาธารณชนเข้าถึงได้เป็นระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ หากบรรษัทปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลภาษีต่อสาธารณชนตามร่างข้อบังคับ Accounting Directive อียูสามารถสั่งปรับบริษัทในเครือ และสำนักงานสาขาที่จดทะเบียนในอียูได้ตามกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการประกอบธุรกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความโปร่งใสของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจในอียู

นอกจากนี้ หากประเทศใดไม่ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีการเงินกับอียู ก็อาจถูกขึ้นบัญชีในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (non-cooperating countries) ตามข้อเสนอเพิ่มเติมของคณะกรรมาธิการยุโรปหลังจากกรณี Panama Papers ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากอียูที่ต้องการลงทุนและขยายห่วงโซ่ธุรกิจในประเทศนั้นๆ ด้วย โดยเกณฑ์การประเมินประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ ประกอบด้วย ความโปร่งใสและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีการเงินการแข่งขันที่ยุติธรรมมาตรฐานด้านการเงินตามข้อกำหนดของกลุ่ม G20 หรือ OECD ตลอดจนมาตรฐานสากลต่างๆ ที่อียูกำหนด

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะต้องจับตามองต่อไปอีกว่า อียูจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของมาตรการต่างๆ ด้านภาษีในการประกอบธุรกิจในอียูต่อไปอย่างไร เนื่องจากร่างข้อเสนอของคณะกรรมการยุโรปยังต้องผ่านกระบวนการลงมติให้ความเห็นชอบจากสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ก่อนบังคับใช้จริงภายในอียูในอนาคต

ท่านติดตามความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรปได้ทาง www.thaieurope.netหรือติดตามรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจาก Facebook “thaieurope.net”

--------------------

ทีมงาน thaieurope.net