จิบเบียร์-ร้องเพลงที่เกาหลีเหนือ ‘I Did It My Way’

จิบเบียร์-ร้องเพลงที่เกาหลีเหนือ ‘I Did It My Way’

คืนนี้อย่าพลาดชมซีรีส์พิเศษ “เจาะเกาหลีเหนือ”

 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว 22.30 น. ทาง Nation TV นำเสนอภาพ, เนื้อหา, บทสัมภาษณ์, วิเคราะห์ประเทศลี้ลับมหัศจรรย์แห่งนี้ที่ คุณเทพชัย หย่องกับผม ไปสัมผัสมาเอง

ใครไปเกาหลีเหนือวันนี้ก็จะต้องยอมรับความแปลกของระบบ วิธีคิด และการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ของเขากับเรา ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักข่าวอย่างผม

ทุกย่างก้าวที่ในเปียงยาง จะมีเจ้าหน้าที่ประกบ เป็นทั้งล่าม ไกด์ และ “ผู้กำกับดูแล” เรา

นักข่าวฝรั่งเรียกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ว่า “minders” หรือ คนคอยควบคุมแต่เขาจะแนะนำตัวเองว่าเป็น “guide” ที่อำนวยความสะดวกให้

พวกเขาจะบอกเราว่าที่ไหนไปได้ ที่ไหนไปไม่ได้ ที่ไหนถ่ายรูปได้ ที่ไหนถ่ายไม่ได้ บางครั้งก็เป็นเรื่องแปลกที่เขาก็อธิบายไม่ได้ เช่นบางสถานที่ พอเดินผ่านประตูเข้าไป รูปของอดีตผู้นำคิมอิลซุง หรือคิมจองอิล หรือทั้งสอง ตั้งตระหง่านข้างหน้า เจ้าหน้าที่จะหันมาบอกว่า “ห้ามถ่ายรูปนี้” ทั้ง ๆ ที่ก็น่าเชื่อว่าเขาวางรูปไว้ใหญ่อย่างนั้น ก็เพื่อจะได้ให้เป็นที่รับรู้ว่านี่คือผู้ที่ประชาชนคนเกาหลีเหนือให้ความเคารพสูงสุด

หากถามว่าทำไมจึงห้ามถ่าย เขาก็จะทำหน้าเฉย ไร้คำอธิบาย

สิ่งแรกที่ต้องรู้เมื่อไปถึงเกาหลีเหนือคือ อย่าเรียกเขาว่าเกาหลีเหนือ ให้เรียกว่า DPRK ซึ่งย่อมาจาก Democratic People’s Republic of Korea

ใครจะว่าเขาเป็นเผด็จการ ลี้ลับ มหัศจรรย์อย่างไร ประชาชนจะไม่มีสิทธิแสดงความเห็นแย้งกับผู้นำหรือรัฐบาลอย่างไร เขาก็ยังเรียกตัวเขาเองว่าเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแห่งเกาหลี” อยู่ดี

บางคนบอกว่าเขาจะหาว่าดูถูกเขามากทีเดียว ถ้าเรียกภาษาอังกฤษว่า “Hermit Kingdom” หรือ ราชอาณาจักรฤาษี

ถ้าเรียกคิมอิลซุง และคิมจองอิล อดีตผู้นำทั้งสอง ต้องเรียกท่านว่า Generalissimo หรือ “ท่านจอมทัพ”

ส่วนคิมจองอึน ผู้นำคนปัจจุบันให้เรียกว่า “Supreme Leader” หรือ “Dear Respected” อันหมายถึง “ท่านผู้นำสูงสุด” หรือ “ท่านผู้นำอันเป็นที่เคารพรัก” ทุกครั้งที่เอ่ยถึง

และเมื่อการประชุมสภาคองเกรสล่าสุดลงมติให้เป็น “ประธาน” พรรคคนงานหรือพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศแล้ว ก็อาจจะเปลี่ยนมาเรียก “Chairman” หรือ “ท่านประธาน” ได้

ทุกคนในเกาหลีเหนือจะติด “เข็มกลัด” ที่มีรูปสองผู้นำในอดีตไว้ที่หน้าอกด้านซ้าย แต่คนต่างชาติหาซื้อไม่ได้

นักข่าวฝรั่งเรียกว่า “pin” แต่เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือคนหนึ่งบอกว่า ไม่ใช่ เรียกอย่างนั้นไม่ให้ความสำคัญพอ ต้องเรียก “badge”

หากเอ่ยถึงสหรัฐ เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือจะปล่อยประโยคยาวออกมา “อเมริกาเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง” และ “ความยากลำบากของคนเกาหลีทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากสหรัฐและเกาหลีทางใต้ที่เป็นรัฐบาลหุ่น”

ถ้าหากอะไรที่เขาไม่อยากตอบ เขาก็จะบอกว่า “นี่เป็นคำถามที่ค่อนข้างยาก”

คำถามยากที่ว่านี้มีหลายเรื่อง เช่นเมื่อถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมให้เราออกจากที่พักไปด้วยตัวเอง ก็จะได้คำตอบว่า คนเกาหลีไม่ชอบให้ถ่ายรูป หรือจ้องมอง อาจเกิดความเข้าใจผิด เกิดการทำร้ายร่างกายกันขึ้นมาก็ไม่ดี

จะเป็นการขู่หรือเตือนหรือหวังดีก็มิได้ทราบได้

อีกคำถามหนึ่งที่เขาบอกว่าตอบยากคือ “รายได้โดยเฉลี่ยของคนที่นี่เท่าไหร่?”

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ อยู่พักใหญ่ก่อนจะตอบว่า “ตอบยากเพราะมันแล้วแต่ว่าคุณทำงานอะไร...” พอซักต่อว่าเอาตัวเลขเฉลี่ยทั่ว ๆ ไปสำหรับคนเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย เงินเดือนเป็นเท่าไหร่ เขาบอกว่า “ประมาณ 20 หรือ 30 เหรียญสหรัฐ แต่คุณอย่าเอาตัวเลขนี้ไปอ้างเพราะมันผิดขึ้นมาแล้วผมจะเสียหาย...”

เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่ง เจอคำถามเดียวกันนี้จากผม ทำท่ากระอักกระอ่วน พร้อมกับบอกผมว่า “ผมว่าการถามคำถามเรื่องรายได้ไม่ค่อยสุภาพนะครับ”

ผมบอกว่าไม่ได้ต้องการรู้ความลับอะไร เอาแต่เพียงตัวเลขคร่าว ๆ เพราะรู้ว่าคนทั่วไปได้สวัสดิการอาหารฟรี, บ้านฟรีและรักษาพยาบาลฟรี รายได้ไม่จำเป็นต้องมากก็อยู่ได้

เขาตอบห้วน ๆ ว่า “เอาเป็นว่าเราอยู่ได้ก็แล้วกัน”

บทสนทนาเรื่องนี้ก็จบลงเท่านั้น ทำให้ผมต้องหาข้อมูลนี้ด้วยวิธีการอื่น ๆ ในฐานะนักข่าวที่ต้องซอกแซกต่อไป

อีกคำถามหนึ่งที่เขาบอกว่า “ตอบยาก” คืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินวอนของเขากับเงินสกุลดอลลาร์ (ที่เปียงยางเขายินดีรับรับเงินดอลลาร์และยูโรเต็มที่)

คำตอบทางการคืออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 100 วอนต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ

ถ้าถามต่อว่าทำไมอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดกลับเป็น 8,000 วอนต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ คำตอบที่ได้รับก็จะเป็นทำนองว่า “อันนี้ตอบยาก”

เป็นอันสิ้นสุดของการสนทนาหัวข้อนี้เช่นกัน

แต่นอกเหนือจากหัวข้อ ละเอียดอ่อน ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว เจ้าหน้าที่และอาจารย์กับนักศึกษาเกาหลีเหนือที่เราสัมผัสและพูดคุยด้วยก็เป็นคนมีอารมณ์ขัน พร้อมจะเฮฮา ร้องเพลงคาราโอเกะ ดื่มเบียร์ และหยอกล้อกันได้...ยกเว้นเรื่องการเมือง!

ในบางอารมณ์ เมื่อสนิทสนมกันได้ระดับหนึ่ง ผมบอกเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือหลายคนว่าภาพลักษณ์ของประเทศเขาข้างนอกคือ ประเทศที่ลี้ลับ, โดดเดี่ยว, โหดเหี้ยมและมุ่งจะก่อสงครามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นพวกเขาก็ควรจะต้องปรับแนวทางการคบหากับคนข้างนอก

คำตอบจากเจ้าหน้าที่คือ “นั่นเป็นผลพวงโฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายเราจากโลกตะวันตก...”

ผมบอกพวกเขาว่าสิ่งที่ผมพบในเปียงยางหนึ่งสัปดาห์สั้น ๆ และได้เยี่ยมเยือนเฉพาะบางแห่งและสนทนากับคนบางกลุ่มนั้น หลายด้านก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมเคยรับรู้จากข่าวคราวก่อนหน้านี้ เขาจึงควรจะเปิดกว้างขึ้นเพื่อให้คนข้างนอกได้เข้าใจเขามากขึ้น

เจ้าหน้าที่พยักหน้ารับรู้ คงบอกเป็นนัยว่าเรื่องนี้ต้องระดับสูงของรัฐบาลกระมัง

การได้แลกเปลี่ยน ตั้งวงสนทนา กินข้าว และจิบเบียร์ หยอกล้อกันได้ ก็สัมผัสได้ถึง “ความเป็นมนุษย์” ของกันและกันพอสมควร

ค่ำคืนหนึ่ง คณะของเราซึ่งหมายรวมถึงเจ้าของรางวัลโนเบล 3 ท่านกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ กินข้าวเย็นที่สโมสรนักการทูตหรือ Diplomats’ Club กลางกรุงเปียงยาง

เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือทั้งชายและหญิง ต่างลุกขึ้นร้องเพลงคาราโอเกะอย่างสนุกสนาน แน่นอนว่าจะต้องมีเพลง “อารีรัง” อันเป็นอมตะ

แต่ที่สร้างความประหลาดใจให้ผมไม่น้อยคือ เจ้าหน้าที่คนที่เป็นล่าม ให้กับเจ้าของรางวัลโนเบลมาตั้งแต่วันแรก ด้วยท่าทีและสีหน้าเคร่งขรึมมาตลอด เดินถือไมค์กลางเวทีและร้องเพลง

My Way ของแฟรงค์ ซีนาตร้าอย่างไพเราะและน่าฟังยิ่ง

ผมไม่แน่ใจว่าเขากำลังจะบอกว่าประเทศเขา “ทำอย่างของเรา” ใครอย่ามายุ่ง

หรือเป็นการสะท้อนว่าแม้หลังม่านโสมแดง วัฒนธรรมมะกันก็สอดแทรกเข้ามาได้

ก่อนจากกัน ผมบอกเพื่อนเกาหลีเหนือหลายคนว่า ผมเข้าใจคุณดีขึ้น แต่ผมยังมีคำถามที่รอคำตอบ... หวังว่าจะได้คำตอบในการพบกันรอบหน้า

เขาหัวเราะ เดินมากอดก่อนจากกัน

บางทีเขาอาจมีอะไรที่อยากบอกผมหลายเรื่องหลายราว

แต่ยังบอกไม่ได้...หรือยังไม่ถึงเวลาจะบอกกระมัง