ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมขึ้นอยู่กับศักยภาพหรือไม่?

ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมขึ้นอยู่กับศักยภาพหรือไม่?

หลายคนให้ความเห็นว่าระบบสัมปทานเหมาะสำหรับประเทศที่ยังไม่ค่อยรู้ศักยภาพปิโตรเลียม

ส่วนระบบสัญญาแบ่งผลผลิตและระบบสัญญาบริการเหมาะสำหรับประเทศที่รู้ศักยภาพแล้ว นั่นคือ เชื่อว่าเมื่อมีการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมไปบ้างแล้ว เช่นประเทศไทยควรใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือระบบสัญญาบริการ ไม่ควรใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งน่าสนใจว่าความเชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่

ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอหยิบสองประเด็นมาพิจารณา ประเด็นแรก คือ ความแน่นอนในการรู้ศักยภาพปิโตรเลียมของแหล่งปิโตรเลียมต่างๆ ในประเทศ และ ประเด็นที่สอง คือ หากเรารู้ศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริง เราควรจะทำตามความเชื่อที่กล่าวถึงข้างบนหรือไม่

ประเด็นแรกก็คือ ประเทศต่างๆ รู้ศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงของบริเวณต่างๆ ในประเทศหรือไม่ ในบทความนี้ “ศักยภาพปิโตรเลียม” ที่ผู้เขียนใช้ไม่ได้หมายถึง “ศักยภาพด้านธรณีวิทยา” ที่มักพูดถึงกัน เพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึงศักยภาพที่จะสำรวจพบปิโตรเลียมและผลิตขึ้นมาได้ด้วย ดังนั้น คำว่า “ศักยภาพปิโตรเลียม” ที่ผู้เขียนใช้ในที่นี้ จะหมายถึง “ศักยภาพในการสำรวจ” “ศักยภาพในการพัฒนา” และ “ศักยภาพในการผลิต”

ศักยภาพในการสำรวจ นอกจากศักยภาพด้านธรณีวิทยาแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจต่างๆ เช่น การสำรวจด้วยวิธีวัดความไหวสะเทือน การเจาะสำรวจ การทดสอบความสามารถในการผลิตของแหล่งกักเก็บ และอื่นๆ เช่น ในบางบริเวณแม้จะมีศักยภาพด้านธรณีวิทยาดี แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ไม่เพียงพอทำให้ศักยภาพในการสำรวจไม่ดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะเจาะสำรวจ ตัวอย่างของบริเวณเหล่านี้ ได้แก่ บริเวณที่น้ำลึกมาก หรือบริเวณที่อาจมีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่มีอุณหภูมิและความดันสูงมาก

นอกจากพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจแล้ว ยังต้องพิจารณาเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาและผลิตด้วย เพราะควรมีความมั่นใจระดับหนึ่งว่า หากเจาะสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมจากบริเวณเหล่านี้ จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาและผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะถ้าไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ การสำรวจพบนั้นก็จะเป็นการสูญเปล่า

ศักยภาพในการพัฒนาคือเมื่อมีการสำรวจพบปิโตรเลียม ก็จะต้องมีการประเมินว่า มีปิโตรเลียมมากพอที่จะพัฒนาและผลิตหรือไม่ และต้องพัฒนาอย่างไร และเมื่อประเมินผลจนมั่นใจว่าสามารถจะพัฒนาและผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ จึงเข้าขั้นตอนการพัฒนา คือทำการออกแบบและก่อสร้างอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ซึ่งการออกแบบและก่อสร้างนี้ก็จะแตกต่างกันสำหรับแหล่งปิโตรเลียมแต่ละแหล่ง โดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับลักษณะและที่ตั้งของแหล่ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละแหล่งปิโตรเลียมจะมีความยากง่ายในการพัฒนา หรือศักยภาพในการพัฒนาไม่เหมือนกัน

ศักยภาพในการผลิตระหว่างการผลิตจะมีความพยายามเก็บข้อมูล เพื่อให้ทราบความสามารถในการผลิตที่แท้จริง (ในช่วงการพัฒนาเป็นเพียงการทำนายความสามารถในการผลิตของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม และของหลุมผลิตจากข้อมูลที่ได้จากช่วงการประเมินผล) จากนั้นจึงพยายามปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงการผลิตนี้ส่วนใหญ่จะต้องมีการเจาะหลุมเพื่อใช้ในการผลิตเพิ่มเติมอยู่เป็นระยะๆ หากเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่ดี ผลิตง่าย ก็อาจต้องเจาะหลุมเพื่อการผลิตเพิ่มเติมไม่มากนัก

แต่หากเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่หินกักเก็บปิโตรเลียมอยู่กระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง ผลิตได้ยาก อาจจำเป็นต้องมีการเจาะหลุมเพื่อการผลิตเพิ่มเติมอีกมากมาย โดยอาจต้องเจาะเพิ่มเติมทุกปี ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแหล่งที่ผลิตง่ายกับแหล่งที่ผลิตยาก จะมีศักยภาพในการผลิตต่างกัน ซึ่งรายละเอียดของความยากง่ายในการผลิตยังมีอีกมากมาย แต่จะขอไม่กล่าวในที่นี้

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่จะทราบศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงของบริเวณต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่อาจบอกศักยภาพปิโตรเลียมได้หลังจากที่เจาะหลุมสำรวจหลุมแรก นอกจากเป็นแหล่งที่พบง่ายและพัฒนาและผลิตง่ายจริงๆ แต่สำหรับแหล่งปิโตรเลียมส่วนใหญ่ เราจะสามารถบอกศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อมีการผลิตไประยะหนึ่ง จนมั่นใจว่าสามารถทำนายความสามารถในการผลิตของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมได้ใกล้เคียงความเป็นจริง

นอกจากนี้ หากเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีความสลับซับซ้อนมากๆ เราจะทราบศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อผลิตไปจนหมดอายุของแหล่งนั้น นั่นคือ การทำนายความสามารถในการผลิตของแหล่งกักเก็บประเภทนี้ แม้หลังจากที่ได้ผลิตมาเป็นเวลานาน ก็อาจจะยังไม่ถูกต้อง คือเราอาจยังไม่เข้าใจว่า หินกักเก็บปิโตรเลียมอยู่ตรงไหนบ้าง และต้องมีการใช้วิธีทางสถิติเข้าช่วยตลอดไป อีกทั้งอาจยังไม่เข้าใจว่า การไหลของปิโตรเลียมในแหล่งกักเก็บเป็นอย่างไร หรือเราจะสามารถผลิตให้ได้ปิโตรเลียมขึ้นมาให้มากที่สุดได้อย่างไร

สิ่งที่ทำได้ก็คือ พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกขั้นตอน แล้วทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ จากนั้นก็ทำการทดลองผลิต เพื่อปรับปรุงการผลิตและปรับปรุงการทำนายเกี่ยวกับศักยภาพปิโตรเลียมในบริเวณที่เราผลิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้เราสามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตถึงท่านผู้อ่านเล็กน้อยว่า เป็นที่น่าเสียดายที่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมส่วนใหญ่ในไทยมีลักษณะสลับซับซ้อน จึงทำให้เป็นการยากที่จะทราบศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงของแหล่งกักเก็บส่วนใหญ่ แม้ว่าเราจะทำการผลิตปิโตรเลียมในประเทศมาแล้วมากกว่า 30 ปี อีกสิ่งที่ผู้เขียนยังไม่ได้กล่าวก็คือ แหล่งกักเก็บที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ มีต้นทุนในการผลิตต่อบาร์เรลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผลิตมากขึ้น ทั้งนี้เพราะในแหล่งกักเก็บแบบนี้ จะมีการผลิตจากส่วนที่สำรวจพบง่าย พัฒนาง่าย และผลิตง่ายก่อน เมื่อส่วนที่พัฒนาง่ายและผลิตง่ายค่อยหมดไป ก็ต้องไปพยายามผลิตจากส่วนที่พัฒนายากและผลิตยากขึ้น

ต่อจากนั้น ก็ต้องพยายามสำรวจในส่วนที่สำรวจพบยาก (ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะไม่พบสูงขึ้นเรื่อยๆ) เพื่อให้พบปิโตรเลียมจะได้สามารถพัฒนาและผลิตต่อไปได้ จึงกล่าวได้ว่า จะสามารถผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งเหล่านี้ได้มากขึ้นอีกเท่าไร (หรือนานขึ้นอีกเท่าไร) ขึ้นอยู่กับว่าการลงทุนนั้นให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ก็คงสามารถผลิตไปได้เรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่อาจผลิตปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ได้ สรุปได้ว่าโดยทั่วไปเป็นไปได้ยากที่รัฐจะรู้ศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงของบริเวณต่างๆ ในประเทศ

ดังนั้นการที่จะสรุปว่าเจาะสำรวจแล้วจะรู้เองว่า มีศักยภาพปิโตรเลียมเป็นอย่างไร จึงอาจจะเป็นการคาดหวังที่ไม่อาจเป็นจริงได้ รัฐจึงจำเป็นต้องหาระบบบริหารจัดการที่สามารถให้ส่วนแบ่งแก่รัฐและบริษัทน้ำมันในสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถทราบว่าศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงเป็นเช่นใด ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนกล่าวได้เลยว่าทุกระบบ (ระบบสัมปทาน ระบบสัญญาแบ่งผลผลิต และระบบสัญญาบริการ) ได้มีการปรับปรุงจนรัฐสามารถใช้ได้ แม้ไม่สามารถทราบศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริง (โดยการกำหนดให้ผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งของรัฐมีลักษณะเป็นขั้นบันได และรองรับความยากง่ายในการสำรวจ พัฒนา และผลิต)

ในประเด็นแรกนี้ จึงสรุปได้ว่าแม้จะมีการสำรวจและผลิตแล้ว ก็มีโอกาสสูงที่รัฐจะยังไม่สามารถรู้ได้ว่าศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริงเป็นอย่างไร จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า ควรใช้ระบบสัญญาแบ่งผลผลิตหรือระบบสัญญาบริการแทนระบบสัมปทาน เมื่อมีการสำรวจและผลิตไปแล้ว

ในประเด็นที่สอง หากรัฐรู้ศักยภาพปิโตรเลียมที่แท้จริง หลังจากมีการสำรวจและผลิตแล้ว ความเชื่อที่ว่า เราควรใช้ระบบสัญญาแบ่งผลผลิตหรือระบบสัญญาบริการ ไม่ควรใช้ระบบสัมปทาน ถูกต้องหรือไม่นั้น หากพิจารณาเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าระบบใด รัฐก็สามารถออกแบบให้มีผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งของรัฐและของบริษัทน้ำมันได้ตามความเหมาะสมต่อสภาพต่างๆ ทั้งศักยภาพปิโตรเลียมและอื่นๆ (เช่น ราคาปิโตรเลียม สภาพการแข่งขันในภูมิภาค) ถึงแม้จะรู้ศักยภาพปิโตรเลียมแล้ว ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่า ควรใช้ระบบสัญญาแบ่งผลผลิตหรือสัญญาบริการ แต่รัฐสามารถเลือกใช้ระบบใดก็ได้ใน 3 ระบบนี้ ตามที่เห็นสมควรด้วยเหตุผลของรัฐเอง และไม่เกี่ยวข้องกับว่าจะรู้ศักยภาพปิโตรเลียมหรือไม่

--------------------

ดร.โยธิน ทองเป็นใหญ่

นักวิชาการอิสระ