เข้าใจความเสี่ยงการเมืองโลก

เข้าใจความเสี่ยงการเมืองโลก

ปีนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมาก ซึ่งได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต่อเสถียรภาพ

ของตลาดการเงินโลกมาตั้งแต่ต้นปี ความไม่แน่นอนนี้เป็นผลจากพลวัตของสามปัจจัยที่กำลังกระทบเศรษฐกิจโลกขณะนี้ นั้นก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เป็นผลจากกระบวนการลดหนี้ที่กำลังเกิดขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งสามปัจจัยนี้อยู่ในเรดาร์ของนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจที่ตามเศรษฐกิจโลกมาตลอด เพราะเป็นพลวัตที่สามารถกดดันให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อไป มีการเกาะติดสถานการณ์และประเมินผลที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุน

แต่อีกความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลกปีนี้ คือ ความเสี่ยงด้านการเมืองหรือ Political risk ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งความเสี่ยงของการเมืองในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ ในสายตานักลงทุนความเสี่ยงด้านการเมืองมีความสำคัญต่อเสถียรภาพของประเทศไม่น้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้องวิเคราะห์ทั้งสองความเสี่ยงนี้คู่กันไป พูดได้ว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ก็คือ การพยายามสร้างความเข้าใจว่าประเทศมีความสามารถทางเศรษฐกิจที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่หรือไม่ ขณะที่การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเมือง ก็คือ พยายามตอบคำถามว่าประเทศจะชำระหนี้ตามข้อผูกพันที่มีอยู่หรือไม่ แม้จะมีความสามารถที่จะชำระหนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ จะจ่ายหรือไม่จ่ายหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ความเสี่ยงด้านการเมืองจึงสำคัญสำหรับนักลงทุน เพราะการเมืองกระทบความสามารถของผู้นำในการทำนโยบาย กระทบนโยบายเศรษฐกิจ กระทบเศรษฐกิจ และกระทบผลตอบแทนจากการลงทุน

ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการทำนโยบายจึงสำคัญสำหรับนักลงทุน และประเด็นที่นักลงทุนสนใจก็มีสองประเด็น หนึ่ง ผู้นำทางการเมืองมีความสามารถที่จะทำนโยบาย (Policy Capacity) หรือผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดที่มีอยู่หรือไม่ สอง ผู้นำมีความสามารถหรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงหรือไม่สร้างสถานการณ์ หรือ shock ที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการทำนโยบายเสียเอง ถ้าผู้นำทางการเมืองสามารถทำได้ทั้งสองเรื่อง คือ สามารถผลักดันนโยบายได้และสามารถปลดข้อจำกัดที่จะมีต่อการทำนโยบายได้ ประเทศก็น่าจะมีเสถียรภาพ แต่ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือขาดทั้งสองอย่าง ความเสี่ยงด้านการเมืองของประเทศก็จะสูงขึ้น

สำหรับปัจจัยที่จะกระทบความสามารถของผู้นำทางการเมืองที่จะทำนโยบายนั้นมาได้ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ดังนั้นในสายตานักลงทุน ความวุ่นวายทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภายในหรือภายนอกประเทศ ไม่ได้หมายความว่าประเทศขาดเสถียรภาพ แต่ตัวกำหนดสำคัญ ก็คือ ความสามารถที่จะควบคุมดูแลไม่ให้ความวุ่นวายหรือshock ที่เกิดขึ้นกระทบความสามารถในการทำนโยบายของประเทศ นี่คือกรอบที่นักลงทุนใช้วิเคราะห์ผลของความเสี่ยงด้านการเมืองต่อเศรษฐกิจ

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้รับเอกสารวิจัยจาก ISA หรือ International Strategic Analysis ที่พูดถึงความเสี่ยงด้านการเมืองในโลกขณะนี้ที่มีสี่ประเด็นที่ต้องระวัง โดยบทความชี้ว่าความเสี่ยงด้านการเมืองในโลกได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อทั้งต่อเศรษฐกิจโลกและต่อความปลอดภัยในการทำธุรกิจ แต่จะกระทบความสามารถในการทำนโยบายในแต่ละประเทศมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปสำหรับแต่ละประเทศ

ความเสี่ยงแรก คือ ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งได้แปรสภาพไปสู่สถานการณ์ของสงครามกลางเมืองอย่างน้อยในสี่ประเทศ คือ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย และเยเมน และสามารถขยายผลไปสู่ประเทศข้างเคียงได้ ความขัดแย้งนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนความขัดแย้งระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง คือ อิหร่าน กับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นคู่กรณีและยืนอยู่ตรงข้ามกันในความขัดแย้งที่มีอยู่ เช่น กรณีอิรัก ซีเรีย เยเมน และบาห์เรน ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ ได้มีผลอย่างมากต่อตลาดน้ำมันโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงก็ได้ซ้ำเติมความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ให้มีมากขึ้น

ความเสี่ยงที่สอง ก็คือ การขาดเสถียรภาพทางการเมืองในทวีปละตินอเมริกา ซึ่งมีผลจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะในบราซิล และเวเนซูเอลล่า ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และความเป็นอยู่ของประชากรในสองประเทศเหล่านี้ แต่นอกจากวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ปัจจัยที่สำคัญมากต่อการทำธุรกิจ ก็คือ ผลที่จะมีต่อทิศทางของนโยบาย ต่อความปลอดภัยจากอาชญากรรม และต่อการทุจริตคอร์รัปชันที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้เท่าที่ประเมินก็มีความเสี่ยงสูงที่ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพในสองประเทศนี้อาจจะแพร่ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา

ความเสี่ยงที่สาม ก็คือ ยุโรปที่เราได้ฟังข่าวเสมอเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่นับวันจะเกิดบ่อยและเป็นความเสี่ยงต่อการติดต่อทำธุรกิจในยุโรปขณะนี้ ที่ต้องตระหนักก็คือปัญหาความไม่ปลอดภัยนี้อาจมีมากขึ้นจากนี้ไป พิจารณาจากความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ในตะวันออกกลางและในอาฟริกาตอนเหนือที่อาจกระทบเสถียรภาพของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะปัญหาการไหลเข้าของผู้อพยพจากประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาผู้อพยพ การก่อการร้าย วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในยุโรป เช่น กรีซ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ปัญหาการเมืองของยูเครน และความเป็นไปได้ที่ประเทศอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปจากที่จะมีการลงประชามติในเดือนหน้า ทั้งหมดนี้ได้บั่นทอนการเมืองของประเทศในยุโรปเองให้เริ่มอ่อนล้า และเปิดช่องให้อิทธิพลของกลุ่มสุดโต่งหรือแนวคิดแบบชาตินิยมกลับมีบทบาท ซึ่งเป็นความเสี่ยงทั้งต่อเสถียรภาพทางการเมืองของยุโรปและต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มสหภาพในยุโรป

ความเสี่ยงที่สี่ ที่บทความพูดถึง ก็คือ ความเสี่ยงต่อการเมืองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับว่าเป็นระบบที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายจุดของโลก ได้สร้างความเสี่ยงให้กับการเมืองในระบบประชาธิปไตย ทั้งการเกิดขึ้นของแนวคิดและกลุ่มการเมืองใหม่ที่มีความหลากหลาย และมีความคิดที่แตกกระจาย ซึ่งเป็นทั้งจุดเสริมและเป็นความเสี่ยงต่อการเมืองในระบบประชาธิปไตย กรณีสหรัฐเองเป็นตัวอย่างที่ดีที่ภายใต้ระบบเลือกตั้งที่มีอยู่ การเมืองในประเทศอาจโน้มไปสู่แนวคิดที่สุดโต่งมากขึ้น ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่อการดำเนินนโยบายภายในประเทศและต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ในบางประเทศการแตกกระจายของแนวคิดทางการเมืองได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้การเมืองนอกระบบประชาธิปไตยเข้ามามีบทบาทได้มากขึ้น

 นี่คือความเสี่ยงสี่ด้านที่บทความได้พูดถึง ผู้ที่สนใจควรอ่านต้นฉบับที่ www.isa-world.com ใน บทความชื่อ Four Political Risks to Watch เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

สำหรับภาคเอกชน ประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือ ความเสี่ยงด้านการเมือง นับวันจะมีอิทธิพลและบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและต่อความสามารถในการทำนโยบายของประเทศ ทำให้เป็นประเด็นที่ต้องติดตามควบคู่ไปกับการติดตามเรื่องเศรษฐกิจ และจากที่สถานการณ์ในโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง การติดตามวิเคราะห์ทั้งประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่เราทำธุรกิจอยู่จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้สามารถติดตามสถานการณ์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ นำไปสู่การบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้อง

และที่นักธุรกิจต้องตระหนักก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นมีตลอดเวลา จึงไม่ควรกลัวสถานการณ์หรือกลัวความเสี่ยงด้านการเมือง เพราะทุกความเสี่ยงจะมีทั้งสิ่งที่ต้องระวังและทั้งโอกาสทางธุรกิจดังนั้น ถ้าเราเข้าใจและสามารถบริหารความเสี่ยงประเด็นการเมืองระหว่างประเทศได้ดี สิ่งที่เราจะได้ก็คือ หนึ่ง สามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับการลงทุนของบริษัทไว้แต่เนิ่นๆ สอง สามารถคาดเดาและนำมาสู่การตัดสินใจที่จะยุติหรือออกจากตลาดที่มีปัญหาได้ทันเหตุการณ์ และ สาม เห็นโอกาสทางธุรกิจจากความเสี่ยงที่มีอยู่ที่น้อยคนอาจจะเข้าใจและมองเห็น