ดีเอสไอจัดชุดประกบ'ศุภชัย' เชื่อ'ธัมมชโย'เข้าแจงเช็คแน่

ดีเอสไอจัดชุดประกบ'ศุภชัย' เชื่อ'ธัมมชโย'เข้าแจงเช็คแน่

"ดีเอสไอ" ลงพื้นที่ตรวจมูลนิธิ “พระครูปลัดวิจารณ์” พร้อมจัดชุดติดตาม “ศุภชัย” เชื่อ “ธัมมชโย” จะเข้าพบชี้แจงกรณีเช็คตามหมายเรียก

 ด้านปปง.รับลูกตรวจสอบที่ดินวัดธรรมกาย "เทียนฉาย"ชี้สปช.มีหน้าที่ปฏิรูปกรณีฆราวาสหากินกับศาสนา


ความคืบหน้าการติดตามร่องรอยการเงินวัดพระธรรมกาย ที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น กับพวกรวม 8 คน ยักยอกทรัพย์ สหกรณ์ยูเนี่ยน คลองจั่น มีมูลค่าความเสียหายกว่า 16,000 ล้านบาทนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดติดตามร่องรอยการเงินวัดพระธรรมกาย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำโดย พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวะกุล ได้นำพนักงานสอบสวนลงพื้นที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เพื่อตรวจสอบมูลนิธิของพระครูปลัดวิจารณ์ ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 119 ล้านบาท


สำหรับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนชุดแรกระบุว่าเป็นการบริจาคเพื่อนำไปก่อตั้งมูลนิธิดูแลเด็ก แต่ปัจจุบันไม่พบว่าการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ยังได้แยกชุดพนักงานสอบสวนติดตามความเคลื่อนไหวของนายศุภชัย ซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในอาคารยูทาวเวอร์ ที่นายศุภชัยนำเงินที่ยักยอกจากสหกรณ์ไปก่อสร้างอาคาร ดังนั้นอาคารดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ การเข้าไปพักอาศัยโดยไม่จ่ายค่าเช่าทำให้สหกรณ์ขาดผลประโยชน์


อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไอปรากฏว่ามีข่าวรั่วไหลจากชุดสอบสวน ทำให้ผู้บริหารสหกรณ์ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลมีนบุรีเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่านายศุภชัย ติดค้างค่าเช่าอาคารยูทาวเวอร์เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการให้ยุติคดีที่เชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอหมายเรียกพระธัมมชโย และพระลูกวัดเข้าให้ปากคำด้วย
เชื่อ"ธัมมชโย"มาพบตามหมายเรียก


พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ บอกว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้ หลังที่ดีเอสไอได้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ชุด ในการตรวจเช็ค 878 ฉบับ ที่จ่ายโดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เบื้องต้นได้มีการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ ไปแล้วกว่า 100 ปากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ ไปแล้ว หลังจากนี้จะทำการสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบบัญชีของสหกรณ์ทั่วประเทศ และเตรียมสอบปากคำ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสและกลุ่มพระในวัดพระธรรมกายที่มีรายชื่อปรากฏรับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำนวน 15 ฉบับ เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท


โดยจะให้ชี้แจงในประเด็นที่มีในการรับเช็คจากสหกรณ์ ที่มาที่ไปของเงินจำนวนนี้ รวมทั้งนำเงินไปใช้วัตถุประสงค์ใด โดยหากไม่มาตามหมายเรียกก็จะมีการออกหมายเรียกซ้ำอีกครั้ง หากยังไม่มาพบอีกก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เชื่อว่า “พระธัมมชโย” น่าจะเข้ามาให้ปากคำตามหมายเรียก โดยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังออกหมายเรียกนิติบุคคล บริษัท ห้างร้าน ที่มีชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ฯในช่วงปี 2552-2555 ที่นายศุภชัยเป็นประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ฯและเป็นผู้สั่งจ่ายให้ เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอด้วย


พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินนั้นทางพนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบและดูเจตนาเป็นหลัก เพราะผู้รับเงินต้องรู้ว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการฉ้อโกงมาหรือไม่ ดีเอสไอเข้ามารื้อคดีนี้ใหม่เพราะเห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญและมีจำนวนเงินสูงมากและเกี่ยวข้องกับสมาชิกผู้ฝากเงินจำนวนมาก ซึ่งพนักงานสอบสวนชุดเดิมเริ่มทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อปี 2556 ในข้อกล่าวหา ยักยอกทรัพย์พนักงานสอบสวนจึงพิจารณาเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์ ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจึงไม่ได้ดำเนินคดี จากนั้นก็มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มอีก 2 คดี ในข้อหา ฉ้อโกงเงินประชาชน ซึ่งมูลหนี้หรือ ทรัพย์สินที่ฉ้อโกงเชื่อมโยงกับคดีแรก จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณากันใหม่ ต้องทำการตรวจสอบเส้นทางการเงิน


ปปง.รับตรวจสอบที่ดินวัดธรรมกาย
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบธุรกรรมการเงินในคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ว่า คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นต้องแยกระหว่างการตรวจสอบวัดพระธรรมกายและบุคคลที่กระทำผิดออกจากกัน เพราะเรื่องวัดเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ดังนั้นปปง.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องคดีอาญา ที่ตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมดีเอสไอ แต่ปปง.จะเข้าไปดูเฉพาะรายละเอียดเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด


อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว การที่บุคคลใดที่รับทรัพย์สินที่ได้ไปจากการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงิน จะมีความผิดทางอาญาฐานร่วมกันฟอกเงินหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาว่ารู้หรือไม่ว่าทรัพย์ที่ได้รับมานั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการฟอกเงิน ถ้าชี้แจงได้ไม่มีความผิดอาญา แต่ทรัพย์จะต้องถูกอายัด เช่นเดียวกับกรณีของนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ผู้ซื้อรถยนต์ต่อจากผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน


พ.ต.อ.สีหนาท ยังกล่าวถึงกรณีนายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล ผู้บริหารบริษัท เอส.ดับบลิว. โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เข้าชี้แจงกับปปง.หลังถูกอายัดทรัพย์ ว่า คำชี้แจงของนายสถาพร คงไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะต้องเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาในการประชุมวันที่ 17 มี.ค.


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มงคลเศรษฐี ซึ่งมีชื่อรับเช็คจากนายศุภชัยด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถให้ละเอียดได้ เพราะคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้ปปง.ไปตรวจสอบการครอบครองที่ดินของวัดพระธรรมกายนั้นปปง.ก็กำลังตรวจสอบไม่ได้นิ่งเฉย


"สถาพร"เข้าโต้ข้อกล่าวหา
ด้านแหล่งข่าวจากปปง. เปิดเผยว่า นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล ได้เข้าให้การโต้แย้งคำสั่งอายัดทรัพย์ บริษัท เอส.ดับบลิว. โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า บริษัทประกอบธุรกิจค้าอัญมณีและของเก่า รวมถึงการรับจำนำและค้าขายทั่วไป มีที่มาทรัพย์สินจากมรดกการขายที่ดินของแม่ โดยนายสถาพร ระบุว่าทำธุรกิจค้าอัญมณีตั้งแต่สมัยบวชเป็นพระวัดพระธรรมกาย โดยรู้จักกับนายศุภชัยผ่านการแนะนำของพระครูปลัดวิจารณ์ และได้ทำการซื้อขายอัญมณีเรื่อยมากระทั่งสึกออกมาเปิดบริษัท ส่วนการนำเงินมาเพิ่มทุนของนายศุภชัยไม่ได้มีการจ่ายเงินกันจริง แต่เป็นการทำสัญญาด้วยความเชื่อใจ ต่อมาเมื่อนายศุภชัยไม่ยอมชำระเงินให้บริษัทนายสถาพรจึงรับซื้อหุ้นลมจากนายศุภชัยไว้ทั้งหมด


ก่อนหน้านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกริชธารณ์เพชร ภาดาแดง เจ้าของบริษัทอิมพีเรียลรีชอร์ส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจเหมืองแร่ใน ต.หนองบัว จ.นครสวรรค์ มีกำหนดเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในประเด็นที่นายศุภชัยโอนเงินให้กับบริษัทเอส.ดับบลิว.ฯ ก่อนที่เงินดังกล่าวจะถูกโอนต่อไปยังบริษัทอิมพีเรียลฯ


สปช.เน้นปฏิรูปฆราวาสหากินกับศาสนา
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องนอกกรอบการดำเนินการของสปช. หน้าที่ของสปช.คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะการปฏิรูป แต่เราไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการ สำหรับความเห็นเรื่องกิจการศาสนานั้นเรายืนยันว่า เราไม่ได้ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะแก่สงฆ์ เพราะไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ต้องจัดการชำระปัญหาและปฏิรูปกันเอง


ส่วนเรื่องที่สปช.มีอำนาจในการเสนอแนะเพื่อปฏิรูปนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฆราวาสได้ข้องเกี่ยวกับพระศาสนา เช่น พุทธพาณิชย์ หรือผู้ที่ปลอมเป็นพระสงฆ์ถือบาตรเรี่ยไรกลางถนน เป็นต้น นอกจากนี้ เรื่องคดีความที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์นั้นก็มีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยทั้งหมดถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดการ ดังนั้นตนอยากจะย้ำว่า ต้องให้ประชาชนให้ข้อเสนอแนะและช่วยกันบำรุงพระพุทธศาสนา ถ้าการปฏิรูปทั้งในส่วนของพระสงฆ์และฆราวาสสำเร็จพร้อมกันก็จะเป็นประเทศที่มีธรรมะ และเป็นเครื่องจรรโลงศีลธรรมอันดีของประชาชน