ประกันภัยพืชผล ทำไมต้องบังคับ

ประกันภัยพืชผล ทำไมต้องบังคับ

มีผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่อย่างที่คนซื้อแล้วไม่อยากใช้ การประกันก็เป็นหนึ่งในนั้น คนส่วนใหญ่มองว่า

การประกันเป็นธุรกิจ แต่ความจริงแล้ว การประกันเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเราหลายด้าน เรามีประกันรถยนต์เพื่อว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็จะมีผู้มาช่วยดูแลค่าใช้จ่าย โดยเราไม่ต้องรับภาระเองทั้งหมด มีคำกล่าวกันว่า ที่ไหนมีความเสี่ยง ที่นั่นต้องมีการประกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีการประกันภัยในภาคเกษตร โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผล

ประกันภัยพืชผลจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดหากเป็นการประกันเพื่อคุ้มครองเกษตรกรจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยเป็นอิสระต่อกัน ตัวอย่างที่ดีของความเสี่ยงในลักษณะนี้ คือ ลูกเห็บซึ่งมักจะตกเป็นบริเวณไม่กว้างนัก ความเสียหายจึงมีขอบเขตจำกัด การที่แปลงเพาะปลูกแห่งหนึ่งเสียหาย ไม่ได้ส่งผลให้แปลงเพาะปลูกอื่นในตำบลเดียวกันต้องเสียหายตามไปด้วย ส่วนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งกระทบต่อเกษตรกรทุกคน เช่น ราคาพืชผลตกต่ำ การบริหารจัดการความเสี่ยงจะต้องใช้เครื่องมือตัวอื่น เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสัญญาแลกเปลี่ยน จึงจะเหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องเผชิญส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยเป็นอิสระต่อกันอย่างสมบูรณ์ ภัยแล้งที่กินบริเวณกว้างครอบคลุมหลายจังหวัด มหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายในปี 2554 เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของความเป็นจริงนี้ ดังนั้น หลักการประกันจึงได้มีการกำหนดเกณฑ์พื้นฐานของความเสี่ยงที่สามารถทำประกันได้ 6 ประการ ดังนี้

1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องสามารถประเมินได้อย่างถูกต้อง

2) จำนวนผู้เอาประกันต้องมีจำนวนมาก และเป็นอิสระต่อกันพอสมควรในแง่ของความเสี่ยงที่จะเอาประกัน

3) เงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จะจ่ายเฉพาะกรณีที่ความเสียหายนั้น เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นเหตุสุดวิสัย

4) ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายระดับรุนแรง

5) สามารถคำนวณโอกาสที่จะเกิดความเสียหายเพื่อกำหนดเบี้ยประกันได้

6) เบี้ยประกันจะต้องอยู่ในระดับที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อได้

นอกจากประเด็นด้านคุณลักษณะพื้นฐานของความเสี่ยงแล้ว การที่ผลิตภัณฑ์ด้านการประกันจะประสบความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับการจัดระดับความเสี่ยงของผู้เอาประกัน ต้องมีการประเมินว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องใช้ในการจัดระดับความเสี่ยงที่จะทำประกัน ตัวอย่างเช่นในการประกันภัยรถยนต์ อายุ ระดับการศึกษา เพศ อาชีพ และประวัติการเกิดอุบัติเหตุ เพราะมีความสัมพันธ์กับโอกาสเกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลาที่เอาประกัน บริษัทจึงต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้มาประเมินว่าผู้เอาประกันมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยบริษัทในการกำหนดค่าเบี้ยประกันให้สอดคล้องกับกลุ่มความเสี่ยงได้

หากบริษัทไม่ทราบข้อมูลของผู้เอาประกันอย่างเพียงพอ ผู้เอาประกันทราบถึงปัญหานี้ จะทำให้ผู้เอาประกันซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของตนเองมากกว่า สามารถเลือกให้ข้อมูลเพียงบางส่วน เพื่อให้ตนเองได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรได้ การรู้ข้อมูลไม่เท่ากันยังดึงดูดให้ผู้มีความเสี่ยงสูงเลือกทำประกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ภาระทางการเงินที่สูงเกินกว่าที่ควรเป็นของบริษัทประกัน ในทางเศรษฐศาสตร์ปัญหานี้เรียกกว่า การเลือกที่ไม่เท่าเทียมกัน

ในบริบทของการประกันภัยพืชผล ปัญหาการเลือกที่ไม่เท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นในกรณีที่เกษตรกรซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเลือกทำประกันภัยพืชผลมากกว่าเกษตรกรที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับพื้นที่ และภาพรวมของประเทศ

แนวทางที่นิยมใช้ในประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหานี้ คือการกำหนดให้การประกันภัยพืชผลเป็นการประกันภัยภาคบังคับ โดยเฉพาะในกรณีที่เกษตรกรต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะเช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรของไทย ตารางที่แสดงไว้เป็นตัวตัวอย่างของประเทศที่ใช้แนวทางนี้เพื่อแก้ปัญหา

หากเราปล่อยให้เกษตรกรเลือกเองว่าจะทำประกันหรือไม่ เกษตรกรซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่สุดจะเข้ามาร่วมเป็นกลุ่มแรก กลุ่มที่เสี่ยงรองลงมาอาจจะไม่ค่อยอยากเข้าร่วม เมื่อเป็นแบบนี้ ความเสี่ยงทางการเงินของโครงการนี้จะมีสูงมากจนอาจดำเนินการต่อไม่ได้ ประเด็นสำคัญก็คือ แม้แต่พื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยก็ยังมีสิทธิจะเกิดภัยได้เช่นกัน หากสุดท้ายประกันอยู่ไม่ได้เพราะขาดทุน วันหนึ่งเมื่อเกิดภัยแม้แต่ในที่ซึ่งแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย เกษตรกรก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองอยู่ดี กลายเป็นว่า การปล่อยให้ทำประกันโดยสมัครใจจะนำไปสู่การล้มละลายของระบบการประกันภัยพืชผลได้ นี่คือเหตุผลว่าเหตุใดหลายประเทศจึงเลือกจะใช้ประกันภัยพืชผลภาคบังคับมากกว่าที่จะใช้การสมัครใจ

ประเด็นที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือ เงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งควรจ่ายเฉพาะกรณีที่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นเหตุสุดวิสัย หากบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในกรณีนี้ ก็จะสอดคล้องกับค่าเบี้ยประกันที่คำนวณไว้ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาอันตรายจากการประมาทเลินเล่อ เช่น ในกรณีที่มีการประกันภัยรถยนต์ ทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความระมัดระวังน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น จะทำให้ยอดรวมของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขในการเอาประกัน จึงมีการกำหนดให้ผู้เอาประกันต้องมารับผิดชอบร่วมกันในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น เช่น การกำหนดว่าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้เอาประกันจะออกเงินก้อนแรกจำนวนหนึ่ง หรือต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายบางส่วน ส่งผลให้ผู้เอาประกันใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการประพฤติมิชอบ

การแก้ปัญหานี้ในบริบทของการประกันภัยพืชผลนั้น การกำหนดให้เกษตรกรผู้เอาประกันเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายบางส่วนโดยตรง สามารถทำได้โดยการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตต่อพื้นที่ แต่ต้องไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้ความคุ้มครองที่เกษตรกรได้รับไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกรอบต่อไป

หลายคนอาจมองว่า การบังคับเกษตรกรให้ทำประกันภัยพืชผลเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประกันสังคมก็เป็นประกันภาคบังคับที่เป็นประโยชน์กับไทยนับล้าน ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ได้ต่างอะไรกับประกันภัยพืชผลภาคบังคับเลยสักนิด