สองปีรัฐประหาร: เสรีภาพความกลัวและความหวัง(จบ)

สองปีรัฐประหาร: เสรีภาพความกลัวและความหวัง(จบ)

การขยายตัวของ “การปกครอง” (govermentality) ที่เกิดในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลเข้าไปกระทบ

การปกครองที่จิตใจ” ของคนแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้นแตกต่างกันไป และ “การปกครอง” ชุดใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมก็ต้องไปปะทะกับมรดกของ “การปกครองทางจิตใจ” แบบเก่าซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งทางการเมืองธรรมดาหากแต่เป็นการไม่สอดคล้องกันระหว่างระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลายชุดในกลุ่มพลเมืองอันเกิดขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “การปกครองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ

การขยายอำนาจ “การปกครอง” กระทำโดยผ่านกลไกอำนาจรัฐที่มุ่งเน้นให้พลเมืองยอมรับการปกครองอย่างยินยอมในระบบเหตุผลของรัฐ การขยาย “การปกครอง” นี้ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดผลทางใจในหมู่พลเมืองโดยทันที หรืออย่างเต็มประสิทธิภาพหากแต่ต้องสัมพันธ์อยู่กับพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ

แม้ว่าการรัฐประหารที่อยู่มาได้สองปีอาจจะยังไม่นานนัก แต่ก็ถือได้ว่านานพอสมควรแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา อะไรทำให้ผู้คน (จำนวนไม่น้อย) ยอมรับการปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ ทั้งๆ ที่คนสังคมไทยต่างเรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

ในสองปีนี้ “การปกครอง” ของคณะรัฐประหารได้แทรกเข้าไปในจิตใจของผู้คน (จำนวนไม่น้อย) ในสามมิติของความรู้สึกด้วยกัน มิติแรกได้แก่การทำให้ผู้คนเหล่านั้นเข้าใจถึงความหมายของ “เสรีภาพ” ในความหมายของความจำเป็นที่จะต้องมีการกำกับด้วยอำนาจรัฐ

ทำไมเมื่อรัฐประหารแล้วก็ยังต้องพูดเรื่อง “เสรีภาพอยู่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแกนกลางของยุทธศาสตร์ “การปกครอง” สมัยใหม่จำเป็นจะต้องสร้างความคิดเรื่อง “เสรีภาพ” ของบุคคลขึ้นมา (ซึ่งแตกต่างไปจาก“การปกครอง”ในสมัย/รัฐจารีตที่ชีวิตของบุคคลไม่จำเป็นมี “เสรีภาพ” เพราะทั้งหมดของชีวิตล้วนแต่ถูกกำหนดมาแล้ว) เพื่อที่จะให้บุคคลสำนึกถึงพันธกิจความรับผิดชอบที่จะสร้างตนเองขึ้นมาอย่างมีความรับผิดชอบรวมทั้งสร้างอนาคตของตนด้วย

“เสรีภาพ” จึงไม่ใช่สิ่งตรงกันข้ามกับ “การปกครอง” หากแต่เป็นส่วนสำคัญของ “การปกครอง” ในรัฐสมัยใหม่

คณะรัฐประหารทำให้ผู้คนรู้สึกไปว่าหากคนทั้งหมดมี “เสรีภาพ” สังคมก็จะเกิดความวุ่นวายสับสนและจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอำนาจมากำกับ “เสรีภาพ” ให้อยู่ในร่องในรอยไม่ก่อความวุ่นวายปั่นป่วน พร้อมกันนั้นในกระบวนการการกำกับ “เสรีภาพก็ได้ทำให้เกิดความรู้สึกอีกสองมิติได้แก่ความกลัวและความหวัง

ความกลัวและความหวัง” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการกำกับ “เสรีภาพ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้การจรรโลงอำนาจ “การปกครอง” ดำเนินต่อเนื่องได้จะเห็นได้ชัดว่าสองปีที่ผ่านมา การกระตุ้นหรือทำให้ผู้คนเกิด “ความกลัว” ว่าชีวิตของผู้คนจำนวนมากจะเสื่อมถอยจากที่ควรจะเป็น พร้อมกันนั้นก็ได้ปลุกปลอบด้วย “ความหวัง” ว่าหากยอมให้ “การปกครอง” แบบนี้ดำเนินต่อไปก็จะชีวิตของตนจะก้าวหน้ามากกว่าเดิม

เสรีภาพ” ที่ถูกตีกรอบไว้ด้วย “ความกลัวและความหวัง” จึงซึมลึกเข้าไปกำหนดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ยังคงดำรงตนเองเป็นหลังพิงให้แก่คณะรัฐประหาร (นักเขียนชื่อดังใบตองแห้งได้กระแหนะกระแหนไว้ในบทความเรื่อง 20 ปีคณะรัฐประหารที่เล่นประเด็นว่าคณะรัฐประหารสามารถอยู่ได้อีก 20 ปีเพราะมีคนกลุ่มนี้คอยช่วยเหลืออยู่)

 “เสรีภาพความกลัวและความหวัง” ในลักษณะที่ถูกกำกับด้วยอำนาจแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งจากกลไกของรัฐทุกรูปแบบและที่สำคัญจากสื่อส่วนตัวของผู้คนที่ยอมรับความคิดชุดนี้ ดังจะเห็นได้จากการแพร่ข่าวสารที่มุ่งเน้นอยู่ในประเด็นนี้เป็นหลักปรากฏในสื่อโซเชียลตลอดเวลา

แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของ “การปกครอง” ที่กระจายออกไปสู่ผู้คนในท้องถิ่นกลับมีผลแตกต่างกันออกไปกล่าวคือคนในท้องถิ่นต่างๆ เพิ่งได้เข้ามาสัมพันธ์กับกลไกอำนาจรัฐ “การปกครอง” ไม่นานนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนที่เป็นหลังพิงให้แก่คณะรัฐประหารแกนกลางของยุทธศาสตร์ “การปกครอง” อันได้แก่ “เสรีภาพความกลัวและความหวัง” จึงถูกทำให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์และการดำรงชีวิตจริงของผู้คนในท้องถิ่น

“เสรีภาพ” จึงเป็นความรู้สึกถึงความเป็นอิสระที่จะสร้างตัวตน/เลื่อนชนชั้นขึ้นมาจากเดิม ความกลัวถูกทำให้มีความหมายถึงการถูกบีบบังคับไม่ให้ปรับฐานะตนเอง ความหวังที่ยังคงมีพลังอยู่ได้แก่ความหวังที่จะมีและใช้ชีวิตแบบใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนในท้องถิ่นปรับเอา “การปกครอง” เข้ามาสู่วิถีการคิดและรู้สึกของตนเองแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะสร้างการท้าทายโดยตรงได้

สองปีของการรัฐประหารจึงเป็นการครองอำนาจอยู่ในเงื่อนไขของ การปกครองที่แปลงเอาความคิดเรื่อง เสรีภาพความกลัวและความหวังที่ถูกกำกับและส่งผลอย่างสำคัญในการควบคุมความรู้สึกนึกคิดของผู้คน (จำนวนไม่น้อย) ให้ยอมรับการกระทำต่างๆ ของรัฐและกลายเป็นส่วนทำงานช่วยกลไกรัฐใน “การปกครอง” อย่างเข้มแข็ง

แต่หากเราเชื่อว่าทุกอย่างในโลกล้วนแล้วแต่ไม่จีรัง ก็คงยังมีหวังที่จะรอดูความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิมในอนาคตครับ