พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 เป็นอุปสรรคต่อบริการสาธารณสุข

 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 เป็นอุปสรรคต่อบริการสาธารณสุข

พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น

โดยมีหมายเหตุในท้าย พ.ร.บ.ว่า เหตุผลที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ โดยที่มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 52 ได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ

แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับเป็นปีที่ 14 แล้ว พบว่าการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด) ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ซึ่งการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดอำนาจในการบริหารจัดการในการทำหน้าที่อย่างมากมาย ดังต่อไปนี้คือ

1) กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดในการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวง กล่าวคือ เงินค่าดำเนินการในการให้บริการประชาชนด้านสาธารณสุขทั้งหมด (ค่าการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรค รวมทั้งการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน) ถูกส่งไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แม้แต่เงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขก็ถูกส่งไปให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถ “สั่งการ” ให้สปสช.ทำตามนโยบายรัฐบาลได้ ถ้าบอร์ดไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เนื่องจากสปสช.และบอร์ดถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นไม่ได้อยู่ “ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรี” และรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ดก็มีเพียงหนึ่งเสียงเท่ากับบอร์ดคนอื่นๆ

3) ยังปรากฏอีกว่าบอร์ดไม่สามารถควบคุมกำกับให้ สปสช.(ที่มี CEO เป็นเลขาธิการ สปสช.) บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

4) อดีตประธานบอร์ดระบุบอร์ดมีอำนาจล้น

5) บอร์ด สปสช. มีผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ

6) บอร์ดยังมีอำนาจกำหนดขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่จะให้กับประชาชน กล่าวคือจะรักษาโรคอะไรบ้าง ตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.หลักปประกันสุขภาพแห่งชาติ ถึงแม้ว่าในการตรา พ.ร.บ.นี้จะอ้างว่าประชาชนจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ทำให้บอร์ดสามารถกำหนดขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่จะให้กับประชาชนได้

7) บอร์ดและ สปสช.ขาดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน

ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีปัญหาอุปสรรคในการจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข โดยที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด) และสปสช. ยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับกฎหมายและบริหารงานโดยขาดธรรมาภิบาลดังกล่าวมาแล้ว ทางสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จึงได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

--------------------

 พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง