หนทางคดเคี้ยวยาวนาน

หนทางคดเคี้ยวยาวนาน

การสรุปบทเรียน 2 ปี คสช.ก็สุดแท้แต่จะวิพากษ์วิจารณ์กัน

ตาม“สี” ที่ตัวเองสังกัด เพราะทุกคนล้วนมี“เหตุผล”บนพื้นฐานความเชื่อส่วนตัวที่ต่างกัน

สำหรับกิจกรรม“ครบรอบ 2 ปีกับอนาคตที่ประชาชนไม่ได้เลือก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านไปแล้ว ท่ามกลางสายฝนชุ่มฉ่ำ

กิจกรรมที่ว่านี้ จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มีคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่เป็นแกนนำ อาทิ รังสิมันต์ โรม, ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ‘แมน’ ปกรณ์ อารีกุล ฯลฯ

ก่อนเคลื่อนเดินบนถนนราชดำเนิน กลุ่มแกนนำได้นัดพบผู้คนที่ลานประติมากรรม 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยคนอายุ 50-60 ปี คนรุ่นนี้ก็คือคนหนุ่ม-สาวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

นี่เป็นการรวมตัวของคนเดือนตุลาปีกไม่เอาทหาร ประเมินว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาร่วมกิจกรรมวันนั้น เป็นคนเดือนตุลา(ฝ่ายต้านทหาร) 

บรรยากาศหน้าหอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ ในวันนั้น เหมือนฉายหนังม้วนเดิม ย้อนไปเมื่อ 18 พ.ค.2550 ได้มีการเปิดตัวแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร” (นปตร.) ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เหมือนกัน

วันนั้น มีตัวแทน 22 กลุ่มองค์กร เข้ามาประชุมกันที่หอประชุมศรีบูรพา และกว่า 60% เป็นคนสูงวัย เป็นคนที่เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยระหว่างปี 2516-2519

มิหนำซ้ำ กลุ่มแกนนำทั้งเปิดเผย และไม่เปิดเผย ก็เป็นคนเดือนตุลา ก็เป็นบรรดา“ซ้ายไทย” ที่เคยเข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ผู้ที่ทำหน้าที่ดั่งเสนาธิการหลังม่าน องค์กร นปตร. เมื่อ 9 ปีที่แล้ว คือ อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ภาคค่ำ รุ่นเดียวกับสังศิต พิริยะรังสรรค์ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม (มธ.) ปี 2516

อดีตผู้นำนักศึกษาเดือนตุลาคนนี้ เคยเข้าร่วมกับสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯ พาเพื่อนนักศึกษาออกสู่ชนบท อันนำไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธ ที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

ว่ากันว่า คนเดือนตุลารายนี้ ถนัดการทำงานใต้ดิน และเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของขบวนการต่อต้านเผด็จการทหาร มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น กลุ่มคนที่ต่อต้านเผด็จทหารตั้งแต่ปี 2550 ก็มีสถานะเป็น สหายเก่า และได้รวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งเป็น พรรคใต้ดิน

หลังรัฐประหาร 2557 แกนนำบางส่วนของพรรคใต้ดิน ได้หลบหนีออกไปอยู่ต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในไทย และมีบทบาทสำคัญในการก่อรูปองค์กรใหม่ เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร คสช.

การชุมนุม 2 ปี คสช.ที่หน้าหอใหญ่ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงมากไปด้วย “คนหน้าเดิม” จากยุคที่มีการชุมนุมมวลชนที่ท้องสนามหลวง ปี 2550

ดั่งที่ทราบกัน การชุมนุมต้านรัฐประหาร พ.ศ.โน้น ระยะแรกๆ ยังอยู่ในการชี้นำของ “คนเดือนตุลา” (ปีกไม่เอาทหาร) ก่อนที่นักการเมืองสายทักษิณเข้ามาเทคโอเวอร์ และตั้งองค์กร นปก. เป็นผู้นำการต่อสู้

วันนี้ก็ตกอยู่ในสภาพเดิม คนเดือนตุลาวัย 60 ต้นๆ มารับบทผู้อยู่เบื้องหลังคนหนุ่มสาว ขณะที่นักการเมืองสายทักษิณ ยังเฝ้ามองอยู่ห่างๆ

ส่วนแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า คสช.ยังคงแข็งแกร่งและควบคุมประชาชนได้

“จรัล” หวังในปีที่ 3 ภายใต้รัฐบาลทหาร จะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ไม่เช่นนั้น คสช. คงจะอยู่ยาว

“โอกาสที่พวกผมจะได้กลับเมืองไทยคงยาก เตรียมใจอยู่ที่นี่จนตายแล้ว”

คนเดือนตุลาอาวุโส ที่ผ่านสมรภูมิทั้งในเมืองและในป่า วิเคราะห์ว่า “การต่อสู้คงอีกนาน เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการปรองดอง สู้กันต่อไปก็ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด”

หนทางข้างหน้าของฝ่ายประชาธิปไตยคดเคี้ยวยาวนานแน่ แต่ฝ่ายทักษิณรอเวลาแค่เลือกตั้ง หลังจากนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรือรัฐบาลทหารซ่อนรูป แต่มิใช่ชัยชนะของฝ่ายต้าน คสช.อย่างแน่นอน