ยักษ์เทคโนโลยีโลกเยือนไทย จุดพลุการศึกษาเชื่อมโลกยุคดิจิทัล

ยักษ์เทคโนโลยีโลกเยือนไทย จุดพลุการศึกษาเชื่อมโลกยุคดิจิทัล

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ซีอีโอยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์ของโลก

อย่าง “ไมโครซอฟท์” มาเยือนไทย เพราะในอดีตมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “บิล เกตส์” อดีตซีอีโอไมโครซอฟท์ ก็เคยเยือนไทยอย่างเป็นทางการมาแล้ว

ครั้งนี้ “สัตยา นาเดลลา” ตัดสินใจเลือกไทยเป็น 1 ใน ไม่กี่ประเทศในอาเซียน มาร่วมเปิดงานประชุมนักพัฒนา หรือ Thailand Developper Day พร้อมกับพก “สปีช” เท่ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักพัฒนายุคดิจิทัล ได้เก็บเกี่ยววิสัยทัศน์ มุมมอง ของคนระดับซีอีโอเทคโนโลยีโลก ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ท่ามกลางเทคโนโลยีรอบตัว

“นาเดลลา” ค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษามาก เพราะเขาเชื่อว่า การลงทุนด้านการศึกษา จะช่วยเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคม ขับเคลื่อนการดำเนินชีวิต รวมไปถึงเศรษฐกิจในระดับประเทศ การเยือนไทยครั้งนี้ เขาประกาศให้เงินช่วยเหลือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรทั่วโลก 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนเรื่องการศึกษา 

แน่นอนว่า ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้บริจาคซอฟต์แวร์รวมมูลค่ากว่า 2 ล้านดอลลาร์ หรือราว 70 ล้านบาทให้แก่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรวมกว่า 430 แห่ง พร้อมการฝึกอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย

ซีอีโอไมโครซอฟท์ บอกว่าการใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางในแบบประชาธิปไตย มีความสำคัญมาก ทำให้ประเทศต่างๆ เจริญก้าวหน้า เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เมื่อประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างโอกาสให้แต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าไทยซึ่งมีพร้อมในองค์ประกอบต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมีพลังของคนรุ่นใหม่ จะทำให้ไทยเติบโตอย่างสวยงามในอนาคตได้ไม่ยาก และที่ผ่านมาไทยก็ก้าวผ่านจุดของการพัฒนาเศรษฐกิจมาได้อย่างดี ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่ละกลุ่มคนที่จะใช้โอกาสจากเทคโนโลยีให้มากที่สุด ต้องมีความร่วมมือกันทั้งรัฐ เอกชน องค์กรแบบไม่หวังผลกำไร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อน

กลับมามอง “เรื่องจริง” ในไทยที่แม้จีดีพีจะขยับ สร้างความลิงโลดได้แบบปลอมๆ หรือซีอีโอระดับโลกมาโปรยยาหอมชมเชยไทย แต่ต้องยอมรับว่า วันนี้เรายังมะงุมมะงาหรา เชื่องช้า หมุนเคว้งคว้าง ไม่รู้จะไปทางไหนดี ดูยังอืดอาด ตีบตันกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

มีแต่คำพูดเก๋ๆ ปลอบใจไล่เรียงมาตั้งแต่ดิจิทัล อีโคโนมี ไทยแลนด์ 4.0 อินดัสทรี 4.0 อะไรๆ ก็จะดิจิทัล สตาร์ทอัพก็โหมพูดถึงกันทุกวัน จัดงานกันถี่ยิบ ไม่รู้ร่วมมือกัน หรือแย่งกันทำ ซึ่งถ้าในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งเหล่าได้ต่อยอดจากความเป็นนามธรรมสู่รูปธรรม หลังงานจบคงจะดีไม่น้อย แต่..ก็อย่างที่เห็น

ขณะที่“ข้อเสนอ”จากหลายภาคส่วน รวมถึงผู้ประกอบการตัวจริงที่เป็นส่วนสนับสนุนสำคัญ ในการช่วยกันขับเคลื่อนให้ทันต่อเทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เหมือนว่าจะได้รับความสนใจไม่มากนัก

มีทั้งเสนอให้รัฐผ่อนคลาย ปรับกฏเกณฑ์ ให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ วิธีคิดใหม่ๆ หรือมานั่งหารือกันให้ตกผลึก (อันนี้มีบ้าง นั่งหารือ แต่ยังไม่เห็นการตกผลึก) ยังมองไม่เห็นสัญญาณเหล่านั้นตอบกลับมาให้รู้สึกชื่นใจ ยิ่งขยับช้า ก็ยิ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

เทคโนโลยีไหล่บ่าท่วมทุกพื้นที่แล้ว แต่เรายังขยับกันเชื่องช้า ไม่ทันโลก “แกร็บไบค์” และ “อูเบอร์โมโต” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด