นโยบายพลังงานทดแทน'ต้องชัด' เสียงสะท้อนเอกชน

นโยบายพลังงานทดแทน'ต้องชัด' เสียงสะท้อนเอกชน

หลายปีที่ผ่านมา “พลังงานทดแทน” ถือเป็น “หนึ่งในธุรกิจดาวรุ่ง”

   ของเมืองไทย สะท้อนผ่านการที่เอกชนหลายราย พร้อมใจกันโดดเข้าสู่แวดวงพลังงานทดแทน หลังธุรกิจหลักของบริษัทบางแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อภายในประเทศ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว

แน่นอนว่า หากค้นหาชื่อที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจพลังงานสะอาดรายแรกของเมืองไทย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ คงต้องปรากฎชื่อของ “วันดี กุญชรยาคง” อดีตผู้ร่วมทุน บมจ.โซลาร์ตรอน หรือ SOLAR ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG และ “สมโภชน์ อาหุนัย" เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA

นักธุรกิจทั้งสองราย ถือว่า ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างมาก สะท้อนผ่าน “ราคาหุ้น” และ “ผลประกอบการ” ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทว่า นับตั้งแต่การเมืองไทยตกอยู่ในความไม่ปกติ และเศรษฐกิจภายในประเทศซบเซา ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เลื่อนการเปิดประมูลโครงการพลังงานสะอาดมาตั้งแต่กลางปี 2558 ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการที่คาดว่า จะชนะการประมูลใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า จำต้องผิดหวังไปตามๆ กัน

แต่ช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐตัดสินใจเปิดประมูลโครงการแรก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศผลการจับฉลากผู้ผ่านคุณสมบัติ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) เฟสแรก จำนวน 67 ราย รวม 281.32 เมกะวัตต์ สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร เช่น บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก หรือ SUPER บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี หรือ PSTC บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐจะเปิดประมูลโครงการพลังงานทดแทน บริษัทเอกชนหลายแห่งเลือกที่จะ “แก้เกม เพื่อประคองธุรกิจ โดยการออกไปลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน ต่างประเทศ”  โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น เช่น บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC และบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL เป็นต้น

สอดคล้องกับความเห็นของ “นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” ประธานกรรมการบริษัท บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ที่ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีคนโดดเข้าสู่แวดวงพลังงานทดแทนจำนวนมาก หลายคนคิดว่า “ทำแล้วได้กำไรเยอะ

เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ตอนนี้พลังงานบางประเภท หากดำเนินการในเมืองไทยอาจได้กำไรน้อยกว่าลงทุนต่างประเทศ ยิ่งรัฐบาลปรับนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากรูปแบบส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า (Adder) มาเป็นรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) มีผลตั้งแต่เดือนม.ค.2558 ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างของกำไรชัดเจน

การเลื่อนประมูลพลังงานสะอาด ทำให้ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนหลายแห่งพากันออกไปทำงานนอกบ้าน รวมถึงอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ฯ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะทำงานในประเทศเป็นอันดับแรกๆ สำหรับประเทศที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการเมืองไทย คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น และอาเซียน

การปรับตัวของผู้ประกอบการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา กำลังส่งสัญญาณว่า หากหน่วยงานของรัฐบาลยังไม่เคาะแผนประมูลพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เอกชนอาจโยกเงินลงทุนไปทำธุรกิจนอกบ้านก็เป็นได้