นโยบาย “หันหาตะวันออก” ของรัสเซียต่ออาเซียน

นโยบาย “หันหาตะวันออก” ของรัสเซียต่ออาเซียน

ในวาระครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ผู้นำอาเซียนได้เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ

เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซียสมัยพิเศษ (ASEAN-Russia Commemorative Summit) ระหว่างวันที่ 19-21พฤษภาคม 2559 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ร่วมกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของสปป. ลาวในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ร่วมเป็นประธานการประชุม

ผู้นำแต่ละประเทศได้ร่วมหารือในประเด็นต่างๆ ทั้งความมั่นคงในภูมิภาค การจัดการกับความท้าทายรูปแบบใหม่ ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซียในหลายมิติอาทิ การศึกษา การคมนาคม ตลอดจนพลังงาน ซึ่งนำไปสู่การลงนามร่วมกันใน “ปฏิญญาโซชิ” (Sochi Declaration) และรับรองแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-รัสเซียระหว่างปี 2559 - 2563

การจัดการประชุมในครั้งนี้เป็นความพยายามของรัสเซียที่ต้องการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียมักผูกโยงกับเศรษฐกิจของยุโรปและชาติตะวันตกอื่นๆ อยู่มาก ทำให้เมื่อระบบเศรษฐกิจในยุโรปประสบภาวะชะงักงัน เศรษฐกิจของรัสเซียก็ประสบปัญหาตามไปด้วย ประธานาธิบดีปูตินมองว่า วิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการดำเนินนโยบาย หันหาตะวันออก” (Turn to the East) โดยมุ่งมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบรูณ์

ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2543 รัสเซียเคยพยายามหันมาให้ความสำคัญกับตะวันออก โดยมุ่งขยายความสัมพันธ์กับประเทศจีนเป็นสำคัญ นโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนในด้านเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี กระทั่งในช่วงกลางปี 2558 จีนประสบปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียลดลงถึงร้อยละ 30 ทำให้รัสเซียทบทวนนโยบายดังกล่าว และหันมาให้ความสนใจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies: ISEAS) ประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า แม้จะมีนโยบายหันกลับมาสนใจกลุ่มประเทศตะวันออกมากขึ้น แต่รัสเซียยังไม่สามารถเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากนัก เนื่องจากเครือข่ายทางการค้าระหว่างรัสเซียกับอาเซียนยังจำกัดอยู่เฉพาะการค้าอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นหลัก เป็นที่น่าสังเกตว่าระหว่างปี 2551-2552 เวียดนามได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กว่าร้อยละ 90 จากรัสเซีย

จากสถิติในปี 2557 รัสเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 14 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 22,500 ล้านดอลลาร์ โดยขยายจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างกันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของอาเซียน อย่างจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอินเดีย

ที่ผ่านมา แม้รัสเซียกับอาเซียนจะดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาเพียง 20 ปี แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างผิวเผินเท่านั้น การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซียสมัยพิเศษที่เกิดขึ้นนี้จึงถือเป็นย่างก้าวสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักในการเพิ่มเสถียรภาพทางการค้าให้แก่ประเทศของตน

หากพิจารณาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับบางประเทศในอาเซียน จะพบว่ามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2440 โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 อันเป็นผู้นำในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีทั้งความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ตลอดจนการรักษาระยะห่างในช่วงสงครามเย็นในขณะที่รัสเซียมีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเวียดนามในช่วงดังกล่าว และยังมีผลสืบเนื่องมายังยุคหลังสงครามเย็น ดังเห็นได้จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างเวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union หรือ EEU) ที่นำโดยรัสเซีย และมีเบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถาน และคีร์กีซสถานเป็นสมาชิก โดยมีการลงนามระหว่างกันเมื่อปีที่แล้ว

ในโอกาสที่จะครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซียในปี 2560 กระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายเตรียมจัดกิจกรรมสำหรับการฉลองวาระดังกล่าว ทั้งในกรุงเทพฯ กรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยรัสเซียมีแผนจะจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมรัสเซียที่กรุงเทพฯ ในอนาคตอันใกล้นี้

ภายในปี 2559 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน ด้วยการเปิดตลาดสินค้าต่างๆ ให้มากขึ้น พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ผ่านโครงการเมืองพี่เมืองน้องทางธุรกิจ (Sister Cities for Commercial Cooperation) โดยทางการไทยเชิญชวนให้นักธุรกิจรัสเซียเข้ามาลงทุนในโครงการ Rubber City และโครงการอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณภาคตะวันออกของรัสเซีย (Far-Eastern Economic Zone) โดยเฉพาะในสาขาอาหารและสินค้าเกษตร

น่าสนใจว่า ในขณะที่นโยบายหันหาตะวันออกของรัสเซียต่ออาเซียนจะเพิ่งเริ่มต้นไม่นานนัก รัสเซียจะสามารถใช้ประโยชน์จากรากฐานสายสัมพันธ์เดิมกับประเทศในอาเซียนอย่างไทยและเวียดนามได้อย่างไร และจะสามารถเป็นข้อต่อสำคัญให้รัสเซียสามารถขยายบทบาทอย่างสำคัญในอาเซียนได้หรือไม่

--------------------------

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch สกว.