ป.ป.ท.เรียกอ.ส.ค. แจงโรงนม2,500ล้าน

ป.ป.ท.เรียกอ.ส.ค. แจงโรงนม2,500ล้าน

นับจากนี้ไปอีก 6 วัน จะถึงวันกำหนดนัด

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มาชี้แจง 6 ประเด็นสำคัญ คือ

1. เครื่องจักรปัจจุบัน มีกำลังผลิตเท่าไหร่ เหตุใด อ.ส.ค.ต้องจัดหาเครื่องจักรใหม่

2. กรณีเครื่องจักรเดิมขัดข้อง บริษัท เอจีส (บริษัทเดิม) แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างไร ตลอดจนมีการยกเลิกสัญญาหรือจะดำเนินการอย่างไรกับผู้เช่ารายเดิม

3. อ.ส.ค.เตรียมสถานที่รองรับเครื่องจักรใหม่ที่ไหน หรือไม่

4. ให้อ.ส.ค.ส่งหลักฐานการสืบราคาว่ามีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร จึงสรุปที่ประมาณการราคาค่าเช่า 420 ล้านบาท

5. เหตุใด อ.ส.ค.จึงเลือกเชิญผู้ประกอบการเพียง 2 ราย คือ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด เข้าร่วมเสนอราคา

6. ภายหลังสัญญาเช่าเครื่อง กับ บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญารายใหม่ อาคารต่าง ๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด ตามสัญญาข้อใด

วานนี้ (24 พ.ค.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ส่งหนังสือเรียกผอ.อ.ส.ค. มาชี้แจงประเด็นที่ นายโรจน์ สุมงคลกุล ร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุ Hight Speed เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนมของมวกเหล็ก จ.สระบุรี ส่อว่ามีการทุจริต ล็อกสเปคเอื้อเอกชน

หนังสือจาก ป.ป.ท.ซึ่งส่งออกไป ได้ให้อ.ส.ค.เข้าชี้แจงภายในเวลา 15 วันนับจากวันรับหนังสือ โดยให้ชี้แจงว่า อ.ส.ค.ริเริ่มโครงการเช่าเครื่อง Hight Speed ผลิตนม UHT เพิ่มกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 23,000 กล่องต่อชั่วโมง จำนวน 3 เครื่อง รวม 69,000 กล่องต่อชั่วโมง มีผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 80% ด้วยข้ออ้างกับบอร์ด อ.ส.ค.ว่าปี 2560 จะมีน้ำนมดิบ 320 ตันต่อวัน เป็นความจริงหรือไม่ มีหลักเกณฑ์คำนวณปริมาณน้ำนมดิบจากไหน เพราะนมดิบปัจจุบัน มีปริมาณการเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 6-9% ปี 2559 มีนมดิบเฉลี่ยวันละ 250 ตัน

ประเด็นค่าเช่าเครื่องจักร ผูกพันเป็นระยะเวลา 7 ปี วงเงิน 420 ล้านบาท แต่ไปซ่อนค่าใช้จ่ายใน TOR ข้อ 9 ค่ากระดาษผลิตกล่องปีละไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ปัจจุบันราคากล่องเฉลี่ย 1.25 บาท ทำให้รวมค่าเช่า และค่าซื้อกระดาษของโครงการนี้รวมกันมีมูลค่าสูงกว่า 2,500 ล้านบาท

ประเด็น กระบวนการพิจารณาที่รวบรัด

เริ่มจาก 19 มี.ค.2559 อ.ส.ค.อนุมัติ TOR ต่อมาได้เชิญบริษัทจำหน่ายเครื่องจักร 2 รายมารับเอกสาร TOR วันที่ 23 มี.ค.โดยกำหนดกรอบเวลา คือ 25 มี.ค. ไปดูสถานที่ตั้งเครื่องจักร 10 วันหลังดูสถานที่คือ 4 เม.ย.ให้ยื่นเสนอราคา พร้อมประกาศผลวันเดียวกัน 27 เม.ย.

อ.ส.ค.ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดส่งมอบเครื่องจักรใน 270 วัน

เลขาธิการ ป.ป.ท.เปิดเผยว่า จะเร่งดำเนินการสอบสวนโครงการนี้เพราะมีเงินลงทุนจำนวนมาก

 แม้ว่า ป.ป.ท.พิจารณาแล้วเห็นว่ามูลค่าโครงสูงเกินอำนาจ ก็จะส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนต่อไป