เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน?

เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน?

ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ก็ยังเป็นตัวพลิกผันเกมทางการเงินหลักอีกครั้ง เมื่อบันทึกการประชุมของเฟด

เดือนเมษายนได้ชี้ชัดว่าการประชุมเฟดในช่วงกลางเดือนหน้า ยังคงพิจารณาการขี้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น น้ำหนักของการขึ้นดอกเบี้ยจากเฟดยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเมื่อนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ได้ย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้ายังอยู่ในทางเลือกที่เป็นไปได้ และตัวเขาเองก็เชื่อว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสที่สองจะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก

โดยส่วนตัวของผม เมื่อได้อ่านเฉพาะบันทึกการประชุมของเฟดล่าสุดเพียงอย่างเดียว ผมค่อนข้างยังเชื่อจากการตีความว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังไม่น่าจะเป็นเดือนหน้า ด้วยสมาชิกหลายท่านของเฟดยังมองว่ามีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit Referendum ยังเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ที่เฟดต้องมองแบบไม่กระพริบตา หากพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจในสหรัฐและทั่วโลก คงต้องบอกว่าตัวเลขในสหรัฐล่าสุดออกมาดีขึ้นกว่าต้นปี ทว่าก็ยังไม่ดีขึ้นแบบที่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้แบบปราศจากความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซะทีเดียว หากมองไปที่เศรษฐกิจโลก ตรงนี้มีความเสี่ยงกว่าตอนที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด บอกว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ เมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เปลี่ยนไปจากช่วงที่เฟดประชุมในเดือนเมษายนคือ หนึ่ง กระแส Brexit ยังไม่แรงเท่านาทีนี้ อีกทั้งนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี ก็ยังมีช่องที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ โดยยังไม่ถูกฝั่งเยอรมันบีบให้ชะลอการผ่อนคลายเพิ่มเติมเหมือนเช่นในตอนนี้ และ สอง ตอนนั้นยังแทบจะไม่มีใครเชื่อว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ตอนนี้เขาคือเป็นผู้ที่มีโอกาสเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปแบบที่ไม่รองนางฮิลลารี คลินตัน มากเท่าไรนัก

ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในเร็ววัน เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยเศรษฐกิจยุโรปที่โดนข้อจำกัดของอีซีบีให้ออกจากจุดอับได้ยากผ่านการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ข้อจำกัดของเหตุการณ์ทางการเมืองภายในสหรัฐเองที่เป็นเหมือนตัวกระตุ้น ให้เฟดเองอาจต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งสหรัฐ ถือว่าเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐมาก อย่างที่ทราบกันว่า หากนายทรัมป์ ที่คงจะเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เกิดชนะการเลือกตั้งขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเฟดครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายทรัมป์ย้ำหลายครั้งว่า จะเปลี่ยนตัวนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐออกจากตำแหน่ง หากชนะการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้เฟดเองมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยใน 1-2 เดือนหน้า หากมองจากภาพรวม น่าจะมีความเหมาะสมกว่าช่วงปลายปี

หากพิจารณากลับกัน หลายคนอาจมองว่าหากเป็นเช่นนั้น เฟดอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เลยจะไม่ดีกว่าหรือ? คำตอบคือ ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตนเอง และทั่วโลกอยู่ในสถานะประมาณนี้ คงจะเกิดฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่น่ากลัวกว่านั้น คือตลาดพันธบัตรสหรัฐเอง ราคาจะขึ้นไปจนกระทั่งอาจจะลงมาแบบไม่สวยหากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปจนถึงปีหน้า

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วจากนี้ต่อไป สถานการณ์จะเดินอย่างไรต่อ ผมขอบอกว่าในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งเดือน ก็จะเกิดการลงประชามติว่าจะอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในอังกฤษ โดยผลโพล ณ ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างสูสี ตัวแปรนี้คือสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของเฟด ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป หรือแม้แต่กลยุทธ์การหาเสียงของคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสหรัฐเอง ผมจึงขอประเมินว่า

หนึ่ง หากผลโพลนับจากนี้ต่อไปในอีก 1 เดือน อังกฤษยังอยู่ในสหภาพยุโรปต่อแบบแน่นอน เฟดคงจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่า Scenario จะเกิดขึ้น เนื่องจากหากพิจารณาในช่วง 1-2 เดือนนี้ ในแวดวงรัฐบาลและราชวงศ์ของอังกฤษ มักจะมีการเผยแพร่ภาพและเสียงของการให้ความเห็นทางการเมืองแบบที่เป็นการบันทึกเทปสนทนาแบบไม่รู้ตัวออกมาบ่อยๆ ซึ่งจากเมื่อก่อนที่เกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งนี้ลามไปถึง นิตยสาร Tabloid อย่าง the Sun พาดหัวว่า สมเด็จพระราชินีของอังกฤษเองอยากให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit

นอกจากนี้ การดีเบตในเวทีต่างๆ จากตัวแทนทั้งสองฝ่ายก็เกิดขึ้นแบบเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นในเวทีเล็กหรือใหญ่ที่มีนายกเทศมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นเวทีมาปะทะคารมกัน ผมคิดว่าขบวนการล็อบบี้ในเรื่อง Brexit คงมีการดำเนินการแบบเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองขั้วความคิด จนการชนะผลโหวตแบบนอนมา ไม่น่าจะเกิดขึ้น

สอง หากผลจากโพล Brexit ออกมาค่อนข้างสูสี ผมคิดว่าเฟดจะรอจนถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อตัดสินใจอีกทีว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หากไม่มีเหตุการณ์แรงๆ จากเศรษฐกิจหรือการเมืองจีน รวมถึงในยุโรปและญี่ปุ่น ที่สำคัญอังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรป น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดอาจจะขยับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้

สาม หากอังกฤษเกิดออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ขึ้นมาจริงๆ เฟดคงต้องมีการประเมินสถานการณ์กันใหม่อีกรอบว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมหรือหลังจากนั้น ทว่าโอกาสที่จะขึ้นในเดือนกันยายนจะมีสูงมาก

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังคงยืนยันมุมมองเดิม จากบทความ ‘6 Macro Moment ปี 2016’ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ โดยโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมมีสูงกว่าขึ้นตอนเดือนกันยายนเล็กน้อยครับ