สมรภูมิใหม่ในอาเซียน

สมรภูมิใหม่ในอาเซียน

การเดินทางมาเยือนเวียดนาม ครั้งแรกของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ของสหรัฐเป็นเวลา 3 วัน ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างมาก ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งบรรดานักการทูตมองว่า การเยือนของนายโอบามาได้ตอกย้ำว่า สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อการขยายความสัมพันธ์กับเวียดนาม หลังจากต้องตัดขาดจากกันตั้งแต่หลังสงครามเวียดนาม  ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการปรับสมดุลกับเอเชีย เพื่อจะได้ถ่วงดุลอำนาจของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

สหรัฐฯเริ่มสานสัมพันธ์กับเวียดนามมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เป็นเรื่องของการค้าการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งการเยือนครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรการค้าอาวุธร้ายแรงกับเวียดนาม โดยประธานาธิบดีเจิ่น ดั่ย กวางของเวียดนาม ระบุว่า“สิ่งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าทั้งสองประเทศได้ปรับความสัมพันธ์ให้เข้าสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์” ดังนั้นจึงน่าจับตากันต่อไปว่าการฟื้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่จะส่งผลอย่างไรต่อความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

แน่นอนว่าการเยือนในครั้งนี้ของนายโอบามา ย่อมสร้างความไม่พอใจกับทางการจีน โดยสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน เตือนว่า "การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม ไม่ควรจะส่งผลให้สันติภาพ และเสถียรภาพในเอเชียต้องเผชิญกับความเสี่ยง" ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้สหรัฐกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารกับประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ความขัดแย้งในพื้นที่ทางทะเลรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งความขัดแย้งกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ในเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ในขณะนี้

อันที่จริง อาณาบริเวณที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมากตั้งแต่อดีตอันยาวนาน ซึ่งในอดีตประเทศมหาอำนาจพยายามเข้ามามีอำนาจเหนือหรืออิทธิพลในบริเวณนี้มาโดยตลอด แม้จะไม่มีแหล่งทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมันในตะวันออกกลาง แต่บริเวณที่ตั้งถือเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างเอเชียตะวันออกกับอินเดีย และยิ่งสำคัญกว่านั้นเมื่อบทบาททางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียในศตวรรษที่ 21 เริ่มเห็นได้ชัดว่าจะกลายเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจใหญ่และมีบทบาทสำคัญ ซึ่งรวมถึงประเทศในอาเซียนด้วย

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อาจจะดูไม่แปลกอะไรนัก หากไม่เกิดความขัดแย้งในเรื่องหมู่เกาะทะเลจีนใต้ เพราะสหรัฐฯก็พยายามเข้ามามีบทบาทมาโดยตลอดและไม่เคยทิ้งภูมิภาคนี้ แม้บางยุคบางสมัยอาจจะดูห่างเหินไปบ้าง แต่หากติดตามบทบาทของจีน รวมทั้งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆที่มีภูมิภาคอาเซียนเข้าไปมีเกี่ยวข้องด้วย ก็จะเห็นว่าสหรัฐฯค่อนข้างตามหลังประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอื่นๆ อีกทั้งในบางประเทศก็มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นนัก

อย่างไรก็ตาม แม้การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทหารกับเวียดนามที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อน อาจเป็นเพียงแค่การเมืองระดับโลกที่ต้องแสดงให้เห็นอำนาจการต่อรองระหว่างมหาอำนาจด้วยกัน เพื่อสร้างสมดุลแห่งอำนาจ เพราะเอาเข้าจริง ก็เชื่อว่าผู้นำทางทหารและการเมืองของทั้งสองประเทศคงไม่บ้าจี้ทำสงครามหรือปะทะกันด้วยกำลังทหารเป็นแน่ เพราะอย่างน้อยความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศก็มีมากเกินกว่าจะสร้างความขัดแย้งจนถึงขั้นทำสงคราม

จากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าอาเซียนกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหม่ ทางเศรษฐกิจการเมืองของมหาอำนาจ ซึ่งสำหรับไทยที่เป็นประเทศเล็กๆย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ดังนั้นสัญญาณการเยือนเวียดนามในครั้งนี้ อาจเตือนให้ไทยต้องเตรียมตัวรับกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมา เมื่อมหาอำนาจโลกโดดเข้ามาแสดงบทบาทกันอย่างเต็มที่ในภูมิภาคอาเซียน เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทยในศตวรรษที่ 21