บทสนทนากับท่านทูตจีน ไทย-จีนจะ ‘win-win’ ได้อย่างไร?

บทสนทนากับท่านทูตจีน ไทย-จีนจะ ‘win-win’ ได้อย่างไร?

ปลายสัปดาห์ก่อน ท่านเอกอัครราชทูตจีน

ประจำประเทศไทย หนิงฟู่ขุ่ย เชิญคณะบรรณาธิการเครือเนชั่นตั้งวงสนทนา ว่าด้วยประเด็นความสัมพันธ์ไทย-จีน มากมายหลายด้านที่กำลังเป็นข่าวเป็นคราว

ได้ความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะมุมมองของท่านทูตที่สะท้อนถึงจุดยืนของรัฐบาลปักกิ่งอย่างน่าสนใจยิ่ง

เพราะวันนี้มังกรยักษ์กำลังผงาดเกือบทุกด้าน และบทบาทความเป็น “พี่ใหญ่” ในย่านนี้ก็กำลังถูกตั้งคำถาม ที่จะต้องวิเคราะห์และร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างเสริมความผาสุกและเจริญก้าวหน้า ในลักษณะที่ท่านทูตยืนยันว่าต้อง “win-win” จึงจะยั่งยืนและอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้

นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลมาไทยเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกเฝ้ามองทั้งทางบวกและทางลบ

พ่อค้าจีนเข้ามาเหมาซื้อสวนผลไม้ของไทยอย่างคึกคัก ก็เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวขวัญ

โครงการรถไฟไทย-จีน ที่ดูเหมือนจะชะงักไปเพราะรัฐบาลไทยตัดสินใจจะสร้าง ช่วงกรุงเทพฯกับโคราช ด้วยงบประมาณของตนเอง ก็ทำให้เกิดข้อคลางแคลงว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนร่วมของสองประเทศนี้หรือไม่

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่จีนถูกจับตาว่ากำลังดำเนินนโยบายเชิงรุก จนถูกมองว่ากำลังรังแกประเทศคู่กรณี ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่วงสนทนาซักถามกัน

ทั้งหมดนี้ ท่านทูตหนิงฟู่ขุ่ยยืนยันว่าจีนต้องการจะแก้ปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติ และเห็นว่าไทยกับจีนต้องหาทางแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อความสัมพันธ์ยิ่งเพิ่มมิติหลาย ๆ ด้าน

หากมีข้อกล่าวหาว่านักธุรกิจและพ่อค้าจีนเข้ามาเปิดบริษัท “นอมินี” เพื่อเข้าฮุบกิจการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นโรงแรม บริษัททัวร์หรือร้านอาหารตลอดจนร้านขายของ เพื่อให้รายได้อยู่ในแวดวงของคนจีนเท่านั้น ท่านทูตบอกว่า “ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แล้วว่ามีข้อมูลว่าคนจีนเข้ามาทำอย่างนี้กี่บริษัท ก็ยังไม่มีอะไรยืนยันชัดเจน ดังนั้นหากยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานชัดเจน ก็ยังไม่ควรจะกล่าวหาให้เกิดความเสียหาย...”

ท่านบอกว่าเจ้าหน้าที่ไทยแจ้งว่าในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจบริษัท 5 แห่งที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว และพบว่ามีเพียง 1 ใน 5 แห่งเท่านั้นที่เป็นของคนจีน นอกนั้นเป็นรัสเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ท่านทูตยืนยันว่าหากพ่อค้าจีนคนใด หรือบริษัทใดทำผิดกฎหมายไทย ทางการไทยก็สามารถจะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเคร่งครัด ฝ่ายจีนยินดีจะให้ความร่วมมือในการจัดการเพื่อแก้ปัญหา

“สถิติทางการบอกว่าปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 8 ล้านคน แต่ละคนอยู่ในไทยประมาณ 5 คืน 6 วัน ใช้จ่ายโดยเฉลี่ยวันละ 6,000 บาท ลองคำนวณตัวเลขออกมา... เห็นบอกว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนในไทยเท่ากับประมาณ 22% ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย...”

ท่านทูตแจกแจงประโยชน์อันเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนต่อไทย เพื่อตอกย้ำว่าข่าวคราวทางด้านลบ เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนนั้นอาจจะเป็นเพียง กรณีเฉพาะเรื่อง ที่ไม่ควรมีผลกระทบต่อ “ด้านบวก” ของแนวโน้มที่ดี

กรณีคนจีนขับ รถบ้าน ที่เป็นลักษณะตู้คอนเทนเนอร์เข้าทางเหนือของประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต จนคนไทยบางคนวิพากษ์ว่าเป็นการเข้ามาใช้ประโยชน์ของไทย แต่ไม่ยอมเสียเงินพักโรงแรมและกินอาหารของร้านไทยนั้น ท่านทูตบอกว่า “ถ้าการเข้ามาอย่างนั้นผิดกฎหมาย ตรวจคนเข้าเมืองของไทยก็ควรจะต้องดำเนินตามกฎหมาย... และควรจะระบุให้ชัดเจนว่า หากคนจีนขับรถเข้ามาเองอย่างนั้นจะสามารถใช้ใบขับขี่ไทยหรือสากล ใครทำผิดกติกาก็ไม่ควรจะให้เข้ามา”

เท่ากับท่านทูตบอกว่านี่เป็นปัญหาของผู้รักษากฎหมายไทย ไม่ใช่ปัญหาของทางการจีน

และอย่าได้กังวลว่าจะมี “รถบ้าน” จากจีนหลั่งไหลเข้ามาจนกลายเป็นวิกฤตในเมืองไทย เพราะท่านทูตบอกว่า

“คนจีนจำนวนน้อยมากที่จะมีเงินพอจะซื้อรถบ้านอย่างนั้น และแม้จะมีเงินก็คงต้องคิดหนัก เพราะซื้อแล้วไม่รู้จะไปจอดที่ไหน...”

ที่ฝ่ายไทยควรจะหาทางแก้ไขอีกอย่างหนึ่ง คือจำนวนมัคคุเทศก์ที่พูดภาษาจีนได้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีไกด์ทั้งหมดประมาณ 1 แสนคน แต่ที่พูดภาษาจีนได้เพียง 5,000 คนเท่านั้น จึงเป็นสัดส่วนที่น้อยจนเป็นปัญหาทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ

วงสนทนายังมีหัวข้อที่แลกเปลี่ยนความเห็นคึกคักหลายเรื่อง ต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง ความเห็นและความรู้สึกของทั้งฝ่ายไทยและจีน ที่ควรจะต้องมีการเปิดอกหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง

เพราะหากจะให้เป็นเรื่อง “win-win” จริง ๆ ก็ต้องไม่มีความรู้สึกว่าใครเอาเปรียบใคร!