ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกจนถึงสิ้นปี

ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกจนถึงสิ้นปี

สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีราคาหุ้นในกลุ่มบริษัทขุดเจาะ

น้ำมันดิบในสหรัฐ (ดูจาก Bloomberg Intelligence North AmericanIndependence E&P Valuation Peer Index ที่แสดงในรูป) ได้ปรับตัวขึ้นสูงขึ้นหลายเท่าตัว ในรอบ 3 เดือนนับจากจุดต่ำสุดในรอบ 12 ปีของดัชนีนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นขนาดการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าระดับการปรับตัวที่ดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐาน ที่สะท้อนได้จากการเพิ่มขึ้นดัชนีราคาน้ำมันดิบในสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (ดูจากดัชนี West Texas Intermediate หรือ WTI)  

รายงานข่าวได้อธิบายความหมายที่สะท้อนจากดัชนีทั้งสองตัวดังกล่าวว่า การปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากของดัชนีหุ้นในกลุ่มผู้ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐในครั้งนี้ หากเป็นสถานการณ์ปกติแล้วก็จะเป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกต้องอยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็คือว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกเมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ขยับสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น และเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อยู่ในช่วงราว 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนี้ ก็ยังถือว่าเป็นราคาน้ำมันดิบที่ไม่คุ้มกับต้นทุนในการขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกาอยู่ดี

ซึ่งหมายความว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การที่ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงไปอยู่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนี้ ส่งผลให้กลุ่มผู้ขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐจำนวนมากซึ่งรวมถึงผู้ผลิต Shale oil ด้วย ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนและปัญหาหนี้สินกับสถาบันการเงิน จึงได้หยุดทำการผลิตไปชั่วคราว ซึ่งก็มีผลทำให้ภาวะการเก็บสำรองน้ำมันส่วนเกินในสหรัฐที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และเมื่อประกอบกับปัญหาการเกิดไฟป่าในประเทศแคนาดา ภาวะความไม่สงบในประเทศไนจีเรีย และปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศเวเนซูเอล่า ที่ล้วนส่งผลกระทบในระยะสั้นต่ออุปทานของน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบสามารถขยับสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่ผ่านมา

และเมื่อราคาน้ำมันดิบมีสัญญาณที่จะขยับตัวสูงขึ้นนี้ ก็ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนได้หันมาลงทุนเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มบริษัทผู้ขุดเจาะมากขึ้น ทำให้มีกระแสเงินไหลเข้าไปในกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่มากนักก็ตาม แต่ก็ทำให้บริษัทหลายแห่งสามารถหลุดรอดหรือยืดลมหายใจยาวขึ้นกับการต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลาย จึงเกิดภาวะที่ทำให้ดัชนีราคาหุ้นของบริษัทขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าการปรับตัวที่ดีเพิ่มขึ้นของปัจจัยพื้นฐานตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายอาทิตย์เดียวกันนั้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ได้เริ่มปรับตัวลดลงแล้วเมื่อสถานการณ์ความไม่ปกติต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้คลี่คลายตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีการคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายในการประชุมครั้งหน้า จึงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ต้นทุนด้านน้ำมันในรูปเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงตามไปด้วย ทำให้อุปสงค์ที่มีต่อน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในที่สุด    

คำถามที่เป็นที่สนใจกันต่อไปก็คงหนีไม่พ้นเรื่องทิศทางการปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนับจากนี้ไปจนถึงปลายปีนี้เป็นอย่างน้อยว่าจะมีการปรับตัวกันอย่างไรได้บ้าง

ภายใต้สถานการณ์โลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากแล้วก็คาดกันว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (Crude oil WTI (NYMEX)) ไม่น่าจะสามารถปรับตัวได้เกินไปจากระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแน่นอน ทั้งนี้เพราะว่าหากเกินจากราคานี้แล้ว กลุ่มผู้ผลิต shale oil ในสหรัฐก็จะเริ่มขยายระดับการผลิตเพื่อเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งก็กลายเป็นแรงกดราคาน้ำมันดิบไว้ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อไป

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกในกรณีของตลาดน้ำมันโลกนั้น จะมีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ด้านแรกได้แก่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ลดลงของอุปทานน้ำมันดิบโลก ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตในกลุ่ม OPEC และอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงในการควบคุมปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบให้ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งความพยายามในแนวทางนี้ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนในด้านที่สองได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ต่อน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็จะเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวกลับไปมีอัตราการขยายตัวเหมือนเช่นในอดีต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในเวลานี้ หากเราจะไม่ลืมกันว่าทาง IMF เพิ่งจะปรับลดการคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จากที่เคยคาดการณ์กันไว้เดิมก่อนหน้านี้

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก (Crude oil WTI (NYMEX)) ต่อจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อยนั้น น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ไม่เกินจาก 50 ดอลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (หรือหากเกินก็จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ) ไปอีกนานหลายเดือน     

 -----------------------

ศ.ดร.อารยะ  ปรีชาเมตตา

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์