กฎหมายเดิมๆอุปสรรคของธุรกิจสตาร์ทอัพ

กฎหมายเดิมๆอุปสรรคของธุรกิจสตาร์ทอัพ

ไม่ควรพลาดสัปดาห์นี้ งาน “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงไอซีที ซึ่งเป็นงานแสดงพลังและจุดยืนของคนไทย

เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลระดับสากล และอีกนัยหนึ่ง เป็นการรับช่วงต่ออย่างไม่เป็นทางการจากงาน สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2016 ที่จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา​​ ซึ่งได้มีการแสดงวิสัยทัศน์จาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า

            ประเทศไทยต้องสร้างนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งก็คือ สตาร์ทอัพ

            จากนิยามของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการค้นหา New Engines of Growthชุดใหม่ ที่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21

            แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ต้องหวนกลับมาคิดว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกแล้ว ประเทศนี้จะสนับสนุน New Engines of Growth หรือจะปกป้องธุรกิจจากยุคเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ กำลังสร้าง “นวัตกรรมปลาเร็วล้มปลาใหญ่” หรือ Disruptive Innovationที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่จะต้องนำไปสู่การล่มสลายของธุรกิจจากยุคเดิม ผู้บริหารประเทศ จะติดสินใจอย่างไร

            สัปดาห์ที่ผ่านมากรมขนส่งทางบก ได้ออกคำสั่งให้ Uber Motoและ Grab Bikeยุติการให้บริการในทันที ด้วยเหตุที่ว่า

            “การเข้ามาของ Uber Moto และ Grab Bike สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมให้กับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าสู่ระบบการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ทั้งนี้     “รถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน”

            จึงเป็นตัวอย่างของ กรอบทางด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่จะมาเป็น New Engines of Growth ในยุคไทยแลนด์ 4.0

 

            อย่างไรก็ดีอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจสตาร์ทอัพเฉพาะในประเทศไทย Uber ก็กำลังประสบปัญหา ในหลายประเทศที่ได้เปิดให้บริการ ซึ่งรวมไปถึง สหรัฐ จีน เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ

            แม้แต่ Airbnbธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีแนวคิดแบบ Sharing Economyที่ทำตัวเป็นตัวกลางให้ผู้ที่มีบ้าน ห้องและปราสาท ในที่ต่างๆ มาปล่อยให้เช่า และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องติดตามในยุคนี้ ยังคงประสบปัญหาทางด้านกฎระเบียบและกฎหมายในอีกหลายประเทศเช่นกัน

            เช่นในนิวยอร์ก อัยการของรัฐยังได้รายงานว่า 75% ของการให้เช่าผ่าน  Airbnb ในนิวยอร์ก ช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นผิดกฎหมายในด้านต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากผู้ให้เช่านั้นนำที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลมาให้บริการในรูปแบบของโรงแรม จึงเป็นการหลบเลี่ยงภาษีโรงแรม

            ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน เช่น Uber, Airbnb ฯลฯ มีจำนวนมากที่มีรากฐานมาจาก Sharing Economy ที่มีนัยสำคัญคือการที่ผู้บริโภคที่ปลายทาง สามารถนำทรัพยากรที่ตนมีอยู่ มายกระดับเป็นผู้ให้บริการผ่านได้ เช่น รถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ ในกรณีของ Uber และที่พักในกรณีของ Airbnb

            Sharing Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สตาร์ทอัพ  เช่น Uber, Airbnb ฯลฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการให้บริการในรูปแบบของ Sharing Economy อย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็น ปลาเร็วล้มปลาใหญ่ หรือ Disruptive Innovation ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในรูปแบบเดิม และท้าทายกฎระเบียบและกฎหมายที่เคยออกมาเพื่อกำกับดูแลกิจการจากยุคก่อนหน้า

            ก็ต้องถือเป็นความโชคดีของธุรกิจสตาร์ทอัพบางราย ที่ต้องมาพบกับอุปสรรคของกฎหมาย เมื่อธุรกิจได้เติบโตจนมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทั้งนี้ ย่อมต้องเป็นอุปสรรคที่ยากจะฝ่าฟันไปได้ สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องมาแบกรับความเสี่ยงจากอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบและกฎหมาย

            อย่างไรก็ดี ได้มีตัวอย่างของ Monetary Authority of Singaporeหน่วยงานที่ควบคุมสถาบันการทางเงินในสิงคโปร์ ที่กำลังสร้าง Regulatory Sandbox เพื่อยกเว้นภาระทางทางด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ ตราบเท่าที่ ไม่มีเจตนาจะคดโกง เพื่อที่จะสนับสนุน การคิดค้น Disruptive Innovation ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างเต็มที่

            หากประเทศไทย ต้องการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจใหม่ ไม่เพียงแต่จะต้องมี นวัตกรรมทางธุรกิจ และ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี แต่นวัตกรรมทางกฎระเบียบและกฎหมาย จำเป็นต้องถูกพัฒนาไปพร้อมกัน