การเปลี่ยนแปลงภายใน และปัจจัยที่ต้องตาม (ตอน 1)

การเปลี่ยนแปลงภายใน และปัจจัยที่ต้องตาม (ตอน 1)

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์

สวัสดีครับ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่เริ่มมีกระแสในด้านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม์และจะมีผลกระทบกับการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจของเราที่ชัดเจนขึ้นหลายเรื่อง ผมขอเอาบางส่วนมาทบทวนคิดตรองกันดูนะครับ 

ฟินเท็ค หรือ FinTech (Financial Technology) มีหลายเวทีได้พูดถึง FinTech กันมากขึ้นและผมได้รับคำถามค่อนข้างบ่อยว่า FinTech คืออะไร แล้วจะมีผลอย่างไร ธนาคารจะได้รับผลกระทบหรือไม่ หรือการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ อะไรบ้างที่ถือว่าเข้าข่าย FinTech

Financial Transaction VS Banking Transaction

ถ้าเราถอยก้าวออกมาตรองดู ผมขอลองมองดูในบริบท 2 ด้านคือ การทำธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction) การทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ (Banking Transaction) ซึ่งการทำธุรกรรมทั้งสองแบบนี้มีบางส่วนที่เหมือนกันและบางส่วนที่ไม่เหมือนกัน ลองดูกันนะครับ

Financial Transaction

ถ้าผมและเพื่อนไปทานข้าวกัน และเมื่อทานเสร็จต้องชำระเงินให้กับร้านอาหารที่เราไปทาน เรานำเงินสดมาชำระและก่อนชำระก็ได้คำนวณว่าแต่ละคนต้องจ่ายกันคนละเท่าไหร่ สมมติค่าอาหาร 1000 บาท ทานกัน 4 คน หารแล้วคนละ 250 บาท แต่ละคนเอาเงินสดออกจากกระเป๋ามารวมกันแล้วจ่ายให้กับร้านอาหาร พอแยกย้ายกันผมขึ้นรถแท็กซี่ไปส่งที่บ้าน ชำระค่าบริการ 200 บาทเป็นเงินสด เมื่อถึงบ้านพบว่าต้องชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าโทรศัพท์ ซึ่งตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะไปชำระที่ทำการแต่ละที่

การชำระเงินค่าอาหาร การแบ่งส่วนและชำระระหว่างกัน การชำระค่าขนส่งและสาธารณูปโภค เป็นการชำระเงินทั้งสิ้น แต่การชำระนั้นเป็นการนำเอาเงินสดที่มีอยู่ไปชำระให้กับแต่ละผู้รับ ซึ่งการชำระต่าง ๆ นี้ผมรวมเรียกว่าธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงิน หรือธุรกรรมทางการเงิน -> ทำกันระหว่างบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งมีธนาคารเป็นตัวกลางหรือไม่ก็ได้ (หากมีธนาคารเป็นตัวกลาง เช่น การไปธนาคารแล้วชำระค่าสาธารณูปโภคโดยการหักบัญชีธนาคารและนำเงินเข้าบัญชีผู้ให้บริการนั้น ๆ เป็นต้น)

Banking Transaction

การทำธุรกรรมธนาคาร หรือ Banking Transaction เดิมธนาคารพาณิชย์จะมีหน้าที่ในบริบทของการเป็นผู้รับฝากเงิน การให้กู้เงิน การบริการบริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย อนุพันธ์ หรือการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การออก Letter of Credit หรือตราสารทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งธนาคารพาณิชย์นั้นอยู่ในการกำกับดูแลโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน กู้ บริหารความเสี่ยงจึงเรียกรวมว่า Banking Transaction หรือ ธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์นั้นมีการบริหารความเสี่ยง การดำรงสภาพคล่อง การจัดการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงกับผู้ฝากเงิน และเมื่อผู้ฝากเงินต้องการถอนเงินเมื่อครบ

กำหนดสามารถถอนเงินได้

เมื่อเรานำธุรกรรมทางการเงิน และธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์มาดูเทียบกันแล้วนั้น มีธุรกรรมทางการเงินหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์หรือยังไม่ได้มีผู้ใดให้บริการอยู่ และโอกาสในการทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้จึงมีช่องว่างทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

FinTech or Financial Technology

FinTech หรือ Financial Technology เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงิน (Technology usage for financial transaction) ซึ่งแทนที่เราทานอาหารเสร็จแล้วนำเงินสดออกจากกระเป๋ามาจ่ายค่าอาหาร หรือขึ้นรถแท็กซี่แล้วจ่ายเงินด้วยเงินสด ก็นำเอาเงินที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ที่อาจมาจากบัญชีที่ฝากอยู่กับธนาคารพาณิชย์ เงินสินเชื่อที่มีอยู่ในบัตรเครดิต หรือนำเอาเงินที่อยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money) ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ได้

ซึ่งการดำเนินการที่เป็นตัวกลางและนำเอาเทคโนโลยีมาใช้นั้นทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และประโยชน์ที่จะได้รับนอกจากนี้อาทิ การลดต้นทุนของการบริหารเงิน การตรวจสอบได้ ลดโอกาสการเสียหายจากการเก็บเงินที่อาจตกหล่น และตรวจสอบได้

ในอนาคตนั้น การให้บริการทางการเงินที่ให้บริการโดยผู้ให้บริการต่าง ๆ นั้นจะมีผลถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภคและยังถึงกับผู้ให้บริการที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ถ้าเราเป็นผู้บริโภคและต้องการชำระเงินให้กับบริการต่าง ๆ ที่เรารับในอดีตจะชำระเป็นเงินสดเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตอาจชำระโดยบัตร หรือการชำระโดยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money) แทน และไม่ต้องเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มจากธนาคารบ่อย ๆ เหมือนก่อน ซึ่งอีกด้านนั้น หากเราเป็นร้านค้าขายสินค้า จากเดิมเรารับชำระเงินเป็นเงินสดเป็นหลัก และลูกค้ามาใช้บริการหรือรับบริการต้องการชำระเงินในอดีตไม่มีปัญหา

ลูกค้าต้องการจ่ายเรารับไม่ได้ ไม่มีลูกค้า

ในอนาคตน้ันลูกค้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปโดยต้องการชำระค่าใช้จ่ายด้วยบัตร หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่จากต่างประเทศ (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจจากต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนั้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวมีการชำระเงินนอกเหนือจากรูปแบบเดิม ๆ อาทิ บัตรเครดิต หรือ E-Money ต่าง ๆ เช่น PayPaL Alipay เป็นต้น) แล้วเราไม่สามารถรับชำระได้เราก็จะเสียลูกค้าไปให้กับร้านอื่น ๆ ที่รับการชำระในรูปแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

ปิดช่องว่าง Financial Transaction & Banking Trasaction

การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น การทำธุรกรรมที่ถูกลง การป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการต่าง ๆ ที่อาจมีช่องว่าง การให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและจากต่างประเทศนั้นถามว่าเป็นหน้าที่ของใคร หรือใครจะมีบทบาทในการดำเนินการ ซึ่งหากดูบริบทที่ได้คุยในเบื้องต้นนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการปิดช่องว่างรวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพที่ดีขึ้นนั้นมีผลที่จะเกิดกับทั้งผู้บริโภค ผู้ให้บริการ ผู้ขายสินค้า ธนาคารพาณิชย์ และองค์กรต่าง ๆ ที่ดำเนินการให้บริการ รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล ที่ต้องมีความเข้าใจและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทัน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่กระแสของการเปลี่ยนแปลงนี้มีการดำเนินการในต่างประเทศจำนวนมากที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และหากเราปรับตัวไม่ทันเราก็จะเสียโอกาสหรืออาจไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจที่เราดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน