สตาร์ทอัพกับ Hype Cycle

สตาร์ทอัพกับ Hype Cycle

มีผู้พยายามอธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า สตาร์ทอัพ กับ เอสเอ็มอี โดยเน้นไปที่ประเภทของธุรกิจที่ผู้ประกอบการกำลังคิดเริ่มที่จะทำ

โดย “สตาร์ทอัพ” จะใช้กับผู้ริเริ่มสร้างธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยี และ/หรือ นวัตกรรม เป็นจุดเด่นของธุรกิจและมุ่งหวังผลตอบแทนอย่างก้าวกระโดด ส่วนผู้ริเริ่มสร้างธุรกิจประเภท ”เอสเอ็มอี” หมายถึงผู้ประกอบการที่ริเริ่มสร้างธุรกิจทั่วๆ ไป ที่ไม่เน้นเรื่องของการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ประกอบในตัวธุรกิจมากนักและมุ่งหวังการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแบบมั่นคงค่อยเป็นค่อยไป

ด้วยการแยกประเภทแบบกว้างๆ นี้ ทำให้ธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพ จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมพอสมควร

พฤติกรรมหนึ่งของการเกิดความคาดหวังในเทคโนโลยี สามารถทำนายหรืออธิบายได้โดยทฤษฎีที่เรียกว่า Hype Cycle หรือ วัฏจักรของความคาดหวังที่เกินธรรมดา

แนวคิดของ Hype Cycle นำเสนอไว้โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่โด่งดังแห่งหนึ่งในระดับโลก คือ บริษัท Gartner ในบางครั้ง จึงมีผู้เรียกแนวคิดนี้ว่า Gartner Hype Cycle

Gartner ระบุว่า เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น ระดับของความคาดหวังของเจ้าของหรือผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีนั้นๆ จะมีการกระเพื่อมขึ้นลงตามวัฏจักรของเวลาที่เปลี่ยนไป

โดยในจุดเริ่มต้น จะเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า “จุดเกิดประกาย” ซึ่งเป็นช่วงที่สตาร์ทอัพหรือคนที่มีไอเดียเฉียบแหลมเริ่มมองเห็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะคิดว่าจะนำมาทดแทนเทคโนโลยีหรือวิธีการเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ได้ ทำให้หลังจากช่วง “จุดเกิดประกาย” นี้ ความคาดหวัง (ว่าจะรวย) ของเจ้าของไอเดีย จะพุ่งสูงขึ้น

เข้าสู่วัฏจักรในช่วงของ “ความคาดหวังที่สูงเกินจริง” ซึ่งเส้นทางจาก “จุดเกิดประกาย” มาถึงยอดของ “ความคาดหวังที่สูงเกินจริง” นี้ มักจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ได้แก่

การเริ่มทำการวิจัยพัฒนา การทดลองต่างๆ การสร้างต้นแบบสินค้าหรือบริการ การประสบความสำเร็จในการแสวงหาแหล่งเงินทุนประเดินในการก่อตั้งธุรกิจ การเริ่มได้รับการกล่าวขานถึงในสื่อต่างๆ

แต่ทฤษฎี Hype Cycle จะบอกต่อไปว่า สาเหตุที่ต้องเรียกชื่อช่วงเวลานี้ว่า “เกินจริง หรือ เกินธรรมดา” เนื่องจากจะพบว่าผลงานการวิจัยพัฒนาหรือต้นแบบที่สร้างขึ้นมา มักจะทำงานหรือมีสมรรถนะไม่ได้เหมือนที่ได้คาดคิดไว้ เมื่อนำไปทดลองใช้ภายใต้สภาวะใช้งานจริง ยังจะพบปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่ต้องนำกลับมาแก้ไขปรับปรุง

ทำให้กราฟความหวังที่พุ่งขึ้นสูงเปี่ยม ต้องค่อยๆ ลดระดับลงมาสู่ช่วงของ “หุบเหวของการเผชิญความจริง” ซึ่งสตาร์ทอัพ ต้องหันกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการในรุ่นต่อๆ ไปเพื่อแก้ไขปัญหาจากผลิตภัณฑ์ในรุ่นแรก การใช้เงินในการวิจัยพัฒนาสินค้าก็ยังต้องดำเนินต่อไป ในขณะที่สินค้ารุ่นแรกอาจหลุดออกจากตลาดไปเลยหรือยังคงอยู่ในตลาดแต่ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของสตาร์อัพที่จะปล่อยสินค้าให้อยู่ในตลาดไปก่อน หรือรีบเก็บออกจากตลาดเพื่อไม่ให้เสียชื่อมากไปกว่านี้

เงินทุนที่จะนำมาสนับสนุนในช่วงนี้ อาจะเป็นเงินที่ได้มาจากบริษัทเงินร่วมลงทุน ซึ่งมักจะเข้ามาสนับสนุนทางการเงินเนื่องจากสตาร์ทอัพ มีการก่อตั้งบริษัทและเริ่มมีการผลิตจริงแล้ว ซึ่งหากบริษัทเงินร่วมลงทุนเห็นโอกาสและศักยภาพของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สตาร์ทอัพต้องการผลักดัน ก็อาจตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการรุ่นต่อไปสามารถพัฒนาให้ตอบสนองกับความคาดหวังของตลาดได้

เมื่อผ่านช่วงของการ “เผชิญความจริง” นี้ไปแล้ว แนวทางของธุรกิจสตาร์ทอัพจะเริ่มลงตัวและค่อยๆ ที่จะมีความแข็งแกร่งและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ที่นำเสนอสู่ตลาดได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และสามารถแพร่กระจายต่อๆ ไปยังผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ

ระยะเวลาในช่วงนี้ เรียกว่า ช่วงของ “ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งสตาร์อัพจะเริ่มเข้าใจเทคโนโลยีที่นำมาใช้อย่างแท้จริง ผ่านการพิสูจน์ การแก้ปัญหา หรือ ลองผิดลองถูก จนสามารถควบคุมเทคโนโลยีได้อย่างใจนึก ตามที่ต้องการ

อาจจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเสถียรมากขึ้น และทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปยังช่วงของ “การเติบโตแบบก้าวกระโดด” เนื่องจากผู้บริโภคเรียนรู้และมีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น

เป็นอันสิ้นสุดของ “วัฏจักรของความคาดหวังที่เกินธรรมดา”

ระยะเวลาของวัฏจักรสำหรับเทคโนโลยีประเภทต่างๆ อาจเร็วช้าไม่เท่ากัน อาจประสบความสำเร็จได้ใน 1 – 2 ปี หรืออาจต้องรอให้เกิดการยอมรับขึ้นได้ใน 3 – 5 ปี ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และความทุ่มเทของสตาร์ทอัพแต่ละคน

บริษัท Gartner ได้พัฒนาแนวคิดพฤติกรรมของความคาดหวังและการยอมรับเทคโนโลยีใหม่นี้อยู่ตลอดเวลา และได้เผยแพร่การวิเคราะห์เทคโนโลยีเกิดใหม่ขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อทำนายว่า เทคโนโลยีใดที่อยู่ในช่วงเวลาของ “จุดเกิดประกาย” ช่วงของ “ความคาดหวังที่สูงเกินจริง” ช่วงของ “การเผชิญความจริง” ช่วงของ “การเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง” และช่วงของ “การเติบโตแบบก้าวกระโดด” และยังทำนายระยะเวลาที่เทคโนโลยีนั้นๆ จะเคลื่อนไปตาม วัฏจักร Hype Cycle อีกด้วย (http://www.gartner.com/newsroom/id/3114217)

สตาร์ทอัพ ที่ไม่เข้าใจความหมายของ Hype Cycle จึงมักมีความคาดหวังสูงและเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างมหาศาลให้ตนเอง อย่างแน่นอน!!!