เปิดประตูสู่ “ดาวอังคาร” จากคนวงในสู่เจ้าของกิจการ

เปิดประตูสู่ “ดาวอังคาร” จากคนวงในสู่เจ้าของกิจการ

“บนดาวอังคาร” เป็น Co-working Space น้องใหม่บนซอยอารีย์ ที่มีเจ้าของคือ “ดีเจพี่อ้อย Club Friday” หรือ คุณนภาพร ไตรวิทยว์ารีกุล และหุ้นส่วน

Concept ของ “บนดาวอังคาร Co-Workspace and Café” มาจากแนวคิดที่ว่า ดาวอังคาร เป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้ผู้เข้ามาใช้งานได้หนีจากความวุ่นวาย มาพบกับรรยากาศของการทำงานรูปแบบใหม่ เป็นพื้นที่ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ที่ต้องการสถานที่ทำงานซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ

บนดาวอังคาร ใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท โดยในการดำเนินงานนั้น เริ่มจากการปรับเปลี่ยนทาวน์เฮ้าส์แฝด 2 หลัง ที่มีพื้นที่ใช้สอย 4 ชั้น ให้กลายเป็นร้าน Co-working Space and Café โดยเน้นการตกแต่งสไตล์วินเทจผสมโมเดิร์น ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยตามแต่ละชั้น

พื้นที่ชั้นแรกออกแบบเป็นคาเฟ่ โดยรายการอาหารต่างๆ ของทางร้าน จะเน้นตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้เข้ามาใช้บริการพื้นที่ทำงานหรืออ่านหนังสือ ของ Co-working Space เป็นหลัก ดังนั้น รายการอาหารจะเน้นอาหารที่รับประทานได้ง่าย เน้นอาหารจานเดียวเป็นหลัก โดยราคาของอาหารจะกำหนดให้ตอบโจทย์กลุ่มคนทำงานและนักศึกษา

ในส่วนของชั้นที่สองจะแบ่งเป็นห้องประชุมจำนวน 2 ห้อง โดยในแต่ละห้องจะออกแบบ Theme การตกแต่งภายในที่แตกต่างกันไป ห้องแรกเน้นโทนสีสบายตา ตกแต่งห้องด้วยรูปภาพวิว ทิวทัศน์ต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าใช้บริการรู้สึกผ่อนคลาย ส่วนห้องที่สองจะเน้น การตกแต่งใน Theme ของห้องสมุด มีหนังสือต่างๆ ให้เลือกอ่านอยู่มากมาย เน้นสีสันที่โดดเด่น สะดุดตา สร้างบรรยากาศแห่งความสดใส

ภายในห้องนั้นจะมีอุปกรณ์สํานักงานพร้อมใช้งานรองรับผู้เข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะ Wifi จอโปรเจ็คเตอร์ กระดานเขียนงาน ซึ่งทั้ง 2 ห้อง สามารถรองรับคนได้สูงสุดประมาณ 20  คน เหมาะสําหรับผู้ที่ต้องการมาประชุมหรือทำงานแบบเป็นทีม

สำหรับพื้นที่ชั้นสาม เป็นกิจการรับจัดดอกไม้ ชื่อ "ร้านดอกไม้ บานมิรู้โรย" ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นความชอบส่วนตัวของหนึ่งในหุ้นส่วนของ Co-working Space แห่งนี้ สำหรับชั้นสี่ จะเป็นส่วนของฝ่ายบริหารงานต่างๆ

พี่อ้อย ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเด่นของ บนดาวอังคาร Co-Workspace and Café ว่า มาจากการปรับเปลี่ยนข้อด้อยให้กลายเป็นโอกาส ทั้งนี้เพราะ สถานที่ของ บนดาวอังคาร อยู่ในซอยอารีย์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการเดินทางกับ Co-working space ที่อื่นๆ ที่มักตั้งอยู่บนทำเลที่ติดกับรถไฟฟ้า หรือ รถใต้ดิน ทำให้ไม่สะดวกกับผู้เข้ามาใช้บริการมากนัก ดังนั้น พี่อ้อย จึงนำประเด็นนี้มาสร้างเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ บนดาวอังคาร แตกต่างจากที่อื่นๆ นั่นคือ การคิดค่าบริการ

โดยที่นี่จะคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมงเหมือนกับ Co-working space ที่อื่น แต่เลือกที่จะไม่คิดค่าบริการห้องประชุม หากผู้ใช้บริการสั่งอาหารภายในร้าน 2,000 บาท ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการห้องได้ไม่จำกัดระยะเวลา ที่จำนวนผู้เข้าใช้ต่อห้องสูงสุดอยู่ที่ 20 คน ด้วยการคำนึงถึงว่า ต้องการให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกถึงความคุ้มค่า ที่ต้องเดินทางมาที่ร้าน

นอกจากนั้น แม้ปัจจุบัน บนดาวอังคาร จะยังมีพื้นที่ในการให้บริการไม่มาก แต่ทางทีมผู้บริหารมองว่า จะยังไม่ขยายพื้นที่ในการให้บริการ เพราะมองว่า หากร้านมีขนาดใหญ่มากเกินไป จะทำให้ดูแลผู้เข้ามาใช้บริการได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังอยากรักษาอัตลักษณ์ของ บนดาวอังคาร Co-Workspace and Café ให้เน้นบรรยากาศแห่งความผ่อนคลายต่อไป

โดยเลือกที่จะรองรับผู้เข้าใช้บริการในจำนวนที่สามารถดูแลได้ทั่วถึง กำหนดราคาอาหารที่ไม่แพงเกินไปสำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการ เพราะเล็งเห็นว่า ธุรกิจ บนดาวอังคาร จะอยู่รอดได้ “การดูแลเอาใจใส่ลูกค้า” เป็นส่วนสำคัญ

กรณีศึกษา บนดาวอังคาร Co-Workspace and Café สะท้อนให้เห็นว่า แม้ธุรกิจ Co-working Space จะเป็นกระแสที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายๆ คน สนใจมาทำธุรกิจนี้ แต่หัวใจของธุรกิจประเภท Co-working Space อยู่ที่บรรยากาศที่เหมาะสม และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการ รวมไปถึง “คุณค่า” ที่มอบให้จากการดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับธุรกิจบริการในรูปแบบของ Co-working Space

(เครดิต : การสัมภาษณ์  ดีเจพี่อ้อย และกรณีศึกษาโดย คุณอุมาพร ฉายแก้วโปร่ง นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)