สร้างกลไกเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืน

สร้างกลไกเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืน

แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก ในช่วงเข้าใกล้ครึ่งปีหลัง

 ไม่อยู่ในสภาพสาหัสเหมือนช่วงต้นปีนี้ ที่ตลาดหุ้นและตลาดน้ำมันปั่นป่วนอย่างหนัก เพราะวิตกเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ในโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ภาพรวมคาดหมายการเติบโตล่าสุดของหลายประเทศ ก็ไม่ได้รับการปรับขึ้น โดยส่วนใหญ่ถูกปรับลดลง มีบางแห่งที่คงคาดการณ์เดิมเอาไว้ ซึ่งก็นับว่ายังดีกว่าการถูกปรับลดลง

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดว่าภูมิภาคเอเชียจะขยายตัว 5.3% ปีนี้และปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5.4% แม้การขยายตัวของบรรดาประเทศในเอเชียยังดำเนินไปได้เพราะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดำดิ่ง และอัตราว่างงานที่ต่ำก็ตาม แต่ขณะเดียวกันเอเชียก็เผชิญการท้าทายหลายอย่างจากภายนอก ตั้งแต่ความอ่อนแอของประเทศพัฒนาแล้ว การค้าโลกที่ซบเซา และความผันผวนที่มากขึ้นในตลาดเงินโลก

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้แม้เอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ การค้าโลกที่ชะลอตัว รวมถึงผลกระทบระยะสั้นจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีน ดังนั้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในโลก เอเชียจึงควรเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างช่องว่างทางการคลังไปพร้อมกับสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้มีมากขึ้น

ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% ปีนี้ และ 3.2% ปีหน้า ส่วนอินเดียคาดว่าจะขยายตัว 7.5% ปีนี้และปีหน้า อันเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก เพราะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดำดิ่ง การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว อันช่วยชดเชยการส่งออกที่ซบเซา สำหรับเกาหลีใต้นั้น คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7% ปีนี้ และ 2.9% ปีหน้า โดยได้แรงหนุนจากความต้องการในประเทศ

ในส่วนของภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ในโลกอย่างสหภาพยุโรป หรืออียู ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซนสำหรับปีนี้ลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าเหลือ 1.6% จาก 1.7% เพราะวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลก รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่จะขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะจีน ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องมากกว่าที่คาดไว้ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่อังกฤษอาจถอนตัวจากอียูในการลงประชามติเดือนหน้า

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจอันเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือยุโรป กำลังชะลอตัวลงด้วยสาเหตุมากมายนั้น ประเทศต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อรับสภาพไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มการลงทุนภาครัฐ และการผลักดันการบริโภคในประเทศให้ขึ้นมาช่วยประคับประคองการเติบโตให้ดำเนินต่อไปได้ รวมถึงประเทศไทยเองก็เช่นกัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีความพยายามอย่างจริงจังเพื่อมองหากลไกใหม่ๆ สำหรับขับเคลื่อนการเติบโตไปอย่างยั่งยืนด้วย ไม่เช่นนั้นหากยามใดที่เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ซบเซา ก็จะสร้างผลกระทบอย่างมากและเป็นไปซ้ำรอยอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า